กระทรวงสาธารณสุข จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2563  ประเด็นการเปลี่ยนแปลง สู่ยุค New Normal “ฝ่าวิกฤติ โควิด 19  ด้วยวิถีชีวิตใหม่ สู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืน”  ให้บุคลากรสาธารณสุข ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลงานวิชาการ นวัตกรรม เพื่อวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงรองรับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่        

          วันนี้ (8 กันยายน 2563) ที่ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุข ประจำปี 2563 กับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค New Normal  ในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤต โควิด 19 ด้วยวิถีชีวิตใหม่ สู่การพัฒนาระบบ สาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืน” โดยมีนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร และบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้จัดตามรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ แบ่งเป็น ผู้เข้าร่วมประชุม Onsite จำนวน 550 คน และรูปแบบออนไลน์ที่ลงทะเบียนไว้กว่า 2,000 คน

           ดร.สาธิต กล่าวว่า  จากปัญหาวิกฤตการณ์โควิด 19 ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น หรือที่เราเรียกว่า วิถีชีวิตใหม่(New Normal) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์หากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยึดหลักการ “ตรวจเร็ว คุมเร็ว รักษาเร็ว” ให้สามารถจำกัดวงการระบาดได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเตรียมความพร้อมระบบการรักษา สำรองยา เวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจ สถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ได้เร่งพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะเรื่อง“สุขภาพของประชาชน เป็นเรื่องที่รอไม่ได้” ซึ่งประชาชนทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างดี มีสิทธิเข้าถึงการรักษา โดยไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ “ทั่วถึง ทั่วหน้า เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ไม่แบ่งแยก ไม่มีข้อยกเว้น”

          ด้านนายแพทย์สุขุม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดการประชุมวิชาการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นช่องทางให้บุคลากรสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานทางวิชาการสู่เวทีสาธารณะ รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างเครือข่ายทางวิชาการ และนำไปประยุกต์ในการปฏิบัติงานจริง โดย กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการบรรยาย/อภิปรายหมู่ทางวิชาการโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ในหัวข้อ “การพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืน จากบทเรียน โควิด 19” และ  “การปฏิรูประบบสุขภาพให้มีความยืดหยุ่น สำหรับภาวะหลัง โควิด 19 อย่างยั่งยืน”  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนการนำเสนอถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในการรับมือโรคโควิด 19 และ นิทรรศการให้ความรู้จากกรมวิชาการและเขตสุขภาพ รวม 21 หน่วยงาน นอกจากนี้ ได้มีการการมอบรางวัลประกวดผลงานวิชาการยอดเยี่ยมจำนวน 6 รางวัล รางวัลผลงาน R2R ดีเด่นจำนวน 55 รางวัล และมอบโล่รางวัลนวัตกรรม Green & Clean Hospital ระดับประเทศ จำนวน 11 รางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนต่อไป

สำหรับผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2562 จำนวน 6 รางวัลประกอบด้วย

          1. การสกัดกั้นเส้นประสาทในช่อง adductor ด้วยการฉีดยาชาเพียงครั้งเดียว โดยใช้คลื่นความถี่สูงนำทางร่วมกับการใส่ยามอร์ฟีนในช่องไขสันหลังสำหรับการระงับปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยน     ข้อเข่าเทียม

          โดย แพทย์หญิงโสภิต เหล่าชัย    โรงพยาบาลกำแพงเพชร

         2. การพัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบไร้รอยต่อ เขตบริการจังหวัดยโสธร

         โดย นางสุภาพร จันทร์สาม โรงพยาบาลยโสธร

           3. ผลของการให้ความรู้ผ่านข้อความอิเล็คโทรนิค (line@) ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนนำไปสู่การลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลชัยภูมิ

          โดย นพ.ธนิศศักดิ์ ทวีโคตร โรงพยาบาลชัยภูมิ

           4. การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกเกิดก่อนกำหนด

          โดย นางปาริชาติ สองเมือง โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์

             5. “Desoxy-D2PM” จากการตรวจพบสู่มาตรการควบคุมทางกฎหมาย

          โดย  เภสัชกรหญิงภณิดา รัตนานุกูลศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๑๐  อุบลราชธานี

            6. ผลการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ป่วยกระดูกต้นขาหักที่ได้รับการดึงถ่วงน้ำหนักต่อเนื่องที่บ้าน

          โดย  ดร.วรนุช วงค์เจริญ โรงพยาบาลปง จังหวัดพะเยา

 

 

************************* 9 กันยายน 2563



   
   


View 1451    08/09/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ