นายกรัฐมนตรีชื่นชม อสม.ช่วยเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด 19 จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทน เยียวยา และเสี่ยงภัยให้ อสม. 7 เดือน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ และสนับสนุนต่อเนื่องหากเกิดระลอกที่ 2 

          วันนี้ (21 กันยายน 2563) ที่อิมแพ็คฟอรั่ม ฮอลล์ 4 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการจัดงานรณรงค์เตรียมความพร้อม อสม.เฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 2 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมคุณนลินี หนูกุล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป้าดี” อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จาก อ.ห้วยยอด จ. ตรัง ที่ปั๊มหัวใจช่วยชีวิตผู้ถูกไฟช็อตหมดสติและตกลงจากที่สูง มีอาการสาหัส ช่วยปั๊มหัวใจตามหลักการที่ได้ผ่านการอบรมนานถึง 20 นาที จนอาการดีขึ้นและส่งต่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพนำส่งโรงพยาบาลจนอาการปลอดภัยในที่สุด ซึ่งเป็นตัวอย่างของคนเก่งคนดีในระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็งของไทย เป็นหนึ่งใน อสม.นับล้านคนทั่วประเทศที่ทุ่มเทช่วยกันดูแลชุมชนของตนเอง เป็นจิตอาสาช่วยระบบการแพทย์และสาธารณสุข ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดโรคโควิด 19 ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนได้รับการยอมรับ ยกย่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีเห็นถึงความเสียสละ การทำงานที่มีความเสี่ยงและทำงานต่อเนื่อง จึงมีมติสนับสนุนค่าตอบแทน ชดเชย เยียวยา และเสี่ยงภัยให้กับ อสม.เป็นระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม - กันยายน 2563 และจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องหากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

          นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในการเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 2 นอกจากอสม.จะช่วยสอดส่องเฝ้าระวังแรงงาน หรือคนต่างถิ่นที่เข้ามาในชุมชน แล้ว ยังช่วยดูแลสุขภาพจิตของเพื่อนบ้านในครัวเรือนที่รับผิดชอบ เพื่อป้องกันภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตาย ส่งต่อผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และให้คำแนะนำในการป้องกันและควบคุมโรคด้วยตนเอง มีวินัย ให้ความร่วมมือ ปรึกษาคนรอบข้าง และย้ำเตือนการมีระยะห่างในการทำกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งอสม.ต้องทำเป็นตัวอย่าง พัฒนาตนเองให้มีความรอบรู้ เป็นต้นแบบด้านพฤติกรรมสุขภาพ มีทักษะในการใช้แอปพลิเคชัน ร่วมสร้างตำบลวิถีชีวิตใหม่ให้ชุมชนร่วมกันจัดระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด 19 ต่อเนื่อง สอดส่องเป็นตาสับปะรด และพัฒนาศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) เป็นศูนย์ประสานส่งต่อผู้ป่วยและส่งยา

          นอกจากนี้ หน้าที่สำคัญของ อสม. ยังเป็นหมอประจำบ้าน เป็นหมอประจำตัวคนแรกของคนในชุมชนตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ “คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน” ช่วยหมออีก 2 คนคือ หมอสาธารณสุข ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระบบปฐมภูมิ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/ หน่วยสาธารณสุขเทศบาล/ คลินิกอบอุ่นในกทม. และหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ร่วมทำงานเป็นทีมสุขภาพที่เป็นระบบ มีพื้นที่เป้าหมาย ข้อมูลบุคคล และการสื่อสารที่ชัดเจน ถือเป็น “มิตรแท้ใกล้ตัว ใกล้ใจ” ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพของประเทศให้มีความมั่นคง  

          ทั้งนี้ หมอ 3 คนที่จะดูแลประชาชน คือ หมอคนที่ 1 “อสม. หมอประจำบ้าน”  1,054,729 คนทั่วประเทศ อสม. 1 คนรับผิดชอบ 8–15 หลังคาเรือน ดูแลสุขภาพพื้นฐาน รวมทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ โดยมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) และอสม. จะต้องสร้าง อสค. (อาสาสมัครประจำครอบครัว) 1 คนเพื่อดูแลครอบครัวของตนเอง, หมอคนที่ 2 “หมอสาธารณสุข” 1 คน รับผิดชอบประชาชน 1,250 คนหรือ 1-3 หมู่บ้าน ทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ หรือหมอครอบครัวตาม พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ดูแลประชาชนร่วมกับ อสม. และหมอคนที่ 3 “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” จากโรงพยาบาลชุมชน 1 คนลงไปปฏิบัติงานในรพ.สต. ดูแลประชาชน 10,000 คน ร่วมกับหมอสาธารณสุขและอสม.หมอประจำบ้าน

  **************************************  21 กันยายน 2563

**************************************

 



   
   


View 1760    21/09/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ