“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 92 View
- อ่านต่อ
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ความมั่นใจมาตรการการให้บริการด้านการบินยังเข้มงวด ทั้งสนามบิน การปฏิบัติการบินเส้นทางทั้งในและระหว่างประเทศ ระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
วันนี้ (25 กันยายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายกลศ เสนาลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แถลงข่าวมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโควิด 19 สำหรับการเดินทางทางอากาศ ว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 มีผลตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 โดยได้หารือร่วมกับสายการบิน และการท่าอากาศยาน อ้างอิงจากมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายของทางรัฐบาล มาตรการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนดเป็นมาตรฐานสำหรับทุกประเทศ รวมทั้ง Best Practice ในต่างประเทศ โดยเฉพาะ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดย กพท. ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติการบินของสายการบิน การบริการผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานทุกแห่งในประเทศไทย ทั้งสายการบินของประเทศไทยและสายการบินต่างชาติที่บินเข้าสู่ประเทศไทย ให้เป็นไปตามมาตรการตามประกาศที่ กพท.กำหนด ทั้งนี้ ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ต้องมีเอกสารที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองจากสถานทูตไทยหรือกงสุลไทยประจำประเทศต้นทาง ใบรับรองการตรวจโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ประกันภัยครอบคลุมการรักษาโควิด 19 ไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อถึงประเทศไทย จะต้องตรวจคัดกรองอาการ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อใช้ติดตามอาการ และเข้ารับการกักตัว 14 วัน
นายกลศกล่าวต่อว่า ระหว่างทำการบิน กำหนดให้ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากตลอดการเดินทาง กำหนดมาตรการรักษาระยะห่าง จัดแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ พนักงานสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและถุงมือยาง งดบริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แผ่นพับโฆษณา งดจำหน่ายสินค้า ให้ลูกเรือติดต่อสื่อสารนักบินผ่านอินเตอร์โฟนเป็นหลัก ลดการเดินเข้าออกห้องนักบิน หากชั่วโมงบินน้อยกว่า 120 นาที งดให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม หากบินนานเกิน 120 นาที ให้เสิร์ฟอาหารที่บรรจุในภาชนะปิด ในกรณีที่เที่ยวบินมีระยะเวลาการบินมากกว่า 240 นาที ต้องสำรองที่นั่ง 3 แถวหลังไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทำความสะอาดอุปกรณ์ในห้องโดยสารด้วยยาฆ่าเชื้อ และฆ่าเชื้อโรคในห้องโดยสารตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้งหลังจากการปฏิบัติการบิน รวมทั้งเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (HEPA) ระบบแอร์คอนดิชันของเครื่องบินตามกำหนด ซึ่งระบบการหมุนเวียนอากาศภายในเครื่องบินจะแลกเปลี่ยนอากาศกับภายนอกในระดับความสูง เป็นอากาศแห้ง มีเชื้อโรคค่อนข้างต่ำ และจะผ่านแผ่นกรอง HEPA ก่อนเข้าสู่ห้องโดยสาร ทำให้อากาศมีความสะอาดสูง
ส่วนมาตรการสำหรับผู้ดำเนินการสนามบิน ได้แก่ การจัดสถานที่เว้นระยะห่าง มีการป้องกันสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล มีโปรแกรมการคัดกรองสุขภาพ จัดตารางเวลาทำงานเพื่อลดแออัดในสนามบิน จัดเตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้สายการบินพิจารณานำเครื่องมือบริการตนเองมาใช้เพื่อลดการสัมผัส เช่น เครื่องออกบัตรและป้ายติดสัมภาระอัตโนมัติ เครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ ใช้เครื่องตรวจจับโลหะแบบเดินผ่านลดการตรวจค้นด้วยมือ, เข้มงวดอากาศยานที่ลงจอดทางเทคนิค ไม่ให้ผู้โดยสารออกจากเครื่อง ทั้งนี้ กพท.จะสุ่มตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการของสายการบินและท่าอากาศยาน และปรับปรุงมาตรการเป็นระยะตามสถานการณ์และนโยบายของประเทศ ประชาชนติดตามข่าวสารและให้คำแนะนำได้ที่ 025688800 หรือ www.caat.or.th
***************************** 25 กันยายน 2563