“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 92 View
- อ่านต่อ
รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ประจำวันที่ 30 กันยายน 2563
วันนี้ (30 กันยายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ (ซูดานใต้ 1 ราย, อินเดีย 3 ราย, คูเวต 1 ราย) ทุกรายเข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้, สถานกักตัวที่รัฐกำหนด มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 4 ราย ทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,374 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.67 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 131 ราย หรือร้อยละ 3.68 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,564 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจาก
ซูดานใต้ 1 ราย เป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 34 ปี อาชีพรับราชการทหาร (ปฏิบัติภารกิจทางทหาร) เดินทางถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่จังหวัดชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 26 กันยายน 2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว) ผลไม่ชัดเจน ตรวจซ้ำอีกครั้ง วันที่ 29 กันยายน 2563 ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทหารที่กรุงเทพมหานคร ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 23 ราย ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล
อินเดีย 3 ราย รายแรก เป็นเพศชาย อายุ 31 ปี สัญชาติอินเดีย อาชีพพนักงานบริษัท มีใบอนุญาตทำงาน เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 23 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 28 กันยายน 2563 (วันที่ 5 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 6 ราย ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล
อีก 2 ราย เป็นเพศชาย อายุ 26 และ 64 ปี สัญชาติไทย เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 25 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่จังหวัดสมุทรปราการ พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรก วันที่ 28 กันยายน 2563 (วันที่ 3 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล
คูเวต 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 41 ปี สัญชาติไทย อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 22 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่กรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากตรวจครั้งแรก วันที่ 26 กันยายน 2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว ) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร มีประวัติเคยติดเชื้อโควิด 19 ถูกแยกกัก 14 วันในสถานที่ที่โรงงานจัดให้ ก่อนเดินทางมาไทยตรวจไม่พบเชื้อ
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ประเทศไทยขณะนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ประเทศไทยยังมีโอกาสกลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้อีก เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐได้บูรณาการทำงานทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายความมั่นคง ปกครอง สาธารณสุข ในการกวดขัน ระวังตรวจจับ แรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองโควิด 19 ตามมาตรการ และเตรียมความพร้อมรองรับทั้งในจังหวัดต้นทาง และปลายทางที่คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศและเข้ามาทำงาน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ฝ่ายปกครอง ภาคเอกชน และประชาชนร่วมสอดส่องแรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ และขอความร่วมมือภาคเอกชน โรงงาน สถานประกอบการ หอพัก หลีกเลี่ยงการรับแรงงานต่างชาติเข้าทำงานในช่วงนี้เพื่อความปลอดภัย
นายแพทย์ธนรักษ์กล่าวต่อว่า เป้าหมายในการควบคุมโรคโควิด 19 ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น แต่เป็นการตรวจพบผู้ติดเชื้อให้ได้โดยเร็ว และควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างหรือในระดับวิกฤติ เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคม และเศรษฐกิจ สำหรับมาตรการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศเป็นเวลา 14 วัน เป็นการป้องกันนำเชื้อจากต่างประเทศมาแพร่ให้กับคนในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา หลังจากที่การกักกันตัวครบ 14 วันตามมาตรฐาน และทำการตรวจเชื้อซ้ำก่อนปล่อยตัว ยังไม่พบรายงานการแพร่เชื้อจากผู้เดินทางสู่ประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ หากผู้เดินทางมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนหน้าที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว เช่น 2 หรือ 3 เดือนก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศ การกลับมาตรวจพบเชื้อใหม่อีกครั้งหนึ่งของการติดเชื้อครั้งเดิมในสถานกักกัน หรือหลังจากออกจากสถานกักกัน ไม่ได้หมายความว่าเชื้อที่ตรวจพบจะเป็นเชื้อที่สามารถแพร่ไปยังบุคคลอื่นได้ เนื่องจากโดยทั่วไปเชื้อที่มีชีวิตและสามารถแพร่จากผู้ป่วยไปยังบุคคลอื่นได้ มักจะสามารถตรวจพบบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนของผู้ป่วยได้ไม่เกิน 9 วัน หลังเริ่มมีอาการ หรือหลังจากวันที่ตรวจพบเชื้อครั้งแรกเท่านั้น
“การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่เหมือนกับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งประเทศไทยอาจกลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ จึงต้องมีการจัดการกับปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และที่สำคัญประชาชนต้องมีความระมัดระวัง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่เข้มแข็ง จะทำให้เกิดการระบาดยากขึ้น หรือหากเกิดมีการแพร่โรคในประเทศเกิดขึ้นก็จะมี
ผู้ติดเชื้อน้อย สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว” นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
************************** 30 กันยายน 2563
******************************