กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาวิชาการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดโรคโควิด 19 และภัยสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่รวดเร็ว จำกัดวงป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้คนไทยและต่างชาติ ควบคู่กับสร้างความสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ ขอสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสื่อสารคนในพื้นที่ การควบคุมโรคโควิด 19 ไม่ใช่ทำให้เป็น 0 แต่ทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

        วันนี้ (19 ตุลาคม 2563) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการสัมมนาวิชาการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพสำหรับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อชี้แจงนโยบาย จัดทำแผนรับมือการระบาดของโรคโควิด 19 ในระยะถัดไปและแนวทางการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา 628 คน พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายการรับมือการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

        นายอนุทินกล่าวว่า ผลการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ที่ผ่านมาได้ผลดี เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน รวมถึงมีกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่แบบบูรณาการอย่างเข้มแข็งในการจัดการกับโรค มี อสม.ดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมสูง ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง มีขีดความสามารถเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สำหรับการดำเนินงานรับมือกับโรคโควิด 19 ในระยะต่อไป ประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ ขัดสน คำนึงถึงเศรษฐกิจปากท้องควบคู่กันไปอย่างสมดุล และต้องปรับมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งระดับโลก ระดับประเทศ ควรมีมาตรการจูงใจผู้เดินทางจากต่างประเทศด้วยวิธีการที่ปลอดภัย โดยเฉพาะประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงบูรณาการภารกิจการดูแลสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพอื่นๆ ในระดับพื้นที่ควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากโควิด 19

          นายอนุทินกล่าวต่อว่า ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงพื้นที่ นำประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานกว่า 9 เดือนที่ผ่านมา มาปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รับมือกับการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ต้องสอบสวนและควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว จำกัดวง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ

      "ขอให้สร้างสรรค์ระบบการทำงานวิถีใหม่ เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ควบคู่ไปกับการจัดสมดุลให้เศรษฐกิจในประเทศ และเน้นย้ำมาตรการสวมหน้ากาก 100%  ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง"  นายอนุทินกล่าว   

    ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ค่านิยมการทำงานเกี่ยวกับโรคโควิด 19 คือ นนก หรือ นำหนึ่งก้าว ที่ผ่านมาคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทำงานได้เป็นอย่างดี โดยเน้นการควบคุม เช่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่พบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอให้รักษาสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญอยากให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสื่อสารกับคนในพื้นที่ว่า การควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 ไม่ใช่การทำให้การติดเชื้อเป็น 0 หรือ Zero Infection การติดเชื้อในพื้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้เกิดการระบาด ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ถือว่าเป็นไปตามสถานการณ์ที่คาดไว้ ซึ่งเรามีระบบการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพทั้งร่างกายและจิตใจ จนกว่าจะไปถึงเป้าหมายสุดท้ายที่มีวัคซีนใช้

     นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโรคโควิด 19 ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียว การออกมาตรการต่างๆ ต้องคำนึงด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย และต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน หากควบคุมได้ดีต่อไปก็จะแง้มประเทศ ซึ่งต้องยอมให้เปิด ภายใต้สถานการณ์ที่คาดการณ์ คือ เจอได้ รักษาได้ ควบคุมได้ ไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งเราคาดการณ์ว่าอาจเจอสถานการณ์ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. สถานการณ์ป้องกันโรคได้ดี (Spike) เช่น เคสกรณีดีเจ ที่เจอเคสเดียวและหายไป สิ่งที่ประชาชนควรปฏิบัติ คือ ประชาชนทุกคนสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ตระหนักเรื่องการป้องกันโรค เฝ้าระวังอาการป่วยไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ไม่ได้กลิ่นหรือรสให้รีบไปตรวจรักษา  2.ควบคุมโรคได้รวดเร็ว (Spike with Small Wave) เกิดจากประชาชนบางส่วนขาดความตระหนัก ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ผู้ประกอบการละเลยมาตรการป้องกันโรคที่กำหนด แต่มีการติดตามตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยและควบคุมโรครวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การระบาดที่สถานบันเทิง และ 3. สถานการณ์ที่ควบคุมโรคได้ช้า (Spike with Big Wave) คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ร่วมมือ ไม่สวมหน้ากาก ไม่ล้างมือ ไม่เว้นระยะห่าง ผู้ประกอบการไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ไม่ได้รับความร่วมมือในการติดตามสัมผัสโรค ซึ่งกรณีนี้ยังไม่เกิดขึ้น

          ทั้งนี้ นโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่จังหวัด ได้แก่ เสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังในสถานพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 10 รายต่อวัน (ประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน) 20 รายต่อวัน (ถ้าประชากร 1 ล้านคนขึ้นไป) และจากผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร้อยละ 10 เพิ่มหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อจาก 1 ทีม เป็น 3 ทีมต่ออำเภอ  ซ้อมแผนเตรียมรับมือการระบาดครั้งใหม่ เตรียมสถานที่กักกันตามมาตรฐาน เตรียมยา เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย และสื่อสารความเข้าใจกับประชาชน หน่วยงานและภาคีเครือข่าย และขอให้ยึดหลัก DMHT คือ Distancing การรักษาระยะห่าง  Mask Wearing หน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์  Hand Washing การล้างมือบ่อยๆ และ Testing การตรวจคัดกรอง

  ************************************** 19 ตุลาคม 2563

**************************************

 



   
   


View 1678    19/10/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ