รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการอย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบแหล่งผลิตลูกชิ้นปลา และเก็บลูกชิ้นปลาที่มีจำหน่ายในจังหวัดตรวจ หากพบรายใดมีปลาปักเป้าผสมให้ปิดโรงงาน และมีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนอาการผู้ป่วยที่จังหวัดน่านล่าสุด กว่าร้อยละ 50 ดีขึ้นมาก ไม่มีใครเสียชีวิต ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ชี้ผลตรวจลูกชิ้นที่จังหวัดน่านจะทราบผลในบ่ายวันนี้ จากกรณีที่มีข่าวชาวบ้านประมาณ 300 ราย ต.บ้านฟ้า อ.บ้านหลวง จ.น่าน มีอาการป่วยอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง หลังร่วมรับประทานอาหารงานศพ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 โดยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปาก แขนและขาชา หายใจลำบาก จุกแน่น ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลบ้านหลวงและโรงพยาบาลน่าน 90 รายนั้น ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์ทนงสรรค์ สุทธาธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่ ลงไปติดตามให้การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปลาปักเป้าเป็นปลาที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปักเป้าน้ำจืดหรือน้ำเค็มก็ตาม ซึ่งปลาปักเป้าเป็นปลาต้องห้าม ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 264 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการลักลอบนำมาปรุงเป็นอาหารอยู่เนืองๆ โดยที่ไม่เห็นแก่ชีวิตของผู้บริโภค ได้กำชับให้แพทย์ พยาบาลที่ร.พ.น่านและร.พ.บ้านหลวง ให้การดูแลผู้ป่วยทุกรายอย่างเต็มที่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้รับรายงานจากนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านว่า ไม่มีใครเสียชีวิต น่าชื่นชมในความสามารถของทีมแพทย์เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งตรวจสอบแหล่งผลิตลูกชิ้นปลาและเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลาที่วางจำหน่ายในตลาดทุกแห่งตรวจสอบหาสารพิษปลาปักเป้า หากพบจะให้ปิดโรงงานและดำเนินคดีถึงที่สุด มีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปีปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ลูกชิ้นที่เป็นต้นเหตุให้ชาวน่านเกิดอาการเป็นพิษครั้งนี้ ต้องรอผลตรวจยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดจะรู้ผลในบ่ายวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดจากจ.น่าน แต่ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ สาวถึงแหล่งผลิตลูกชิ้นต้นตอ ที่ระบุว่าผลิตที่จังหวัดนครสวรรค์ เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบก็จะมีโทษตามกฏหมาย ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับฝ่ายตำรวจ ปราบปรามโรงงานที่ลักลอบนำปลาปักเป้าไปทำเป็นอาหารจำหน่ายผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยประสานกับจ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่างผลิตใหญ่ ให้เข้มงวดแพปลาอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้พิษของปลาปักเป้าน้ำเค็ม มีชื่อว่า เตทโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) และยังพบสารพิษตัวนี้ในแมงดาทะเล ส่วนปักเป้าน้ำจืดมีสารพิษชื่อซาติท็อกซิน(Satitoxin) ความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ หลังได้รับพิษเข้าไปอาจจะเกิดอาการภายใน 4-6 ชั่วโมง จะมีอาการชาที่ลิ้นและริมฝีปาก ลามไปถึงหน้า แขน ขา มีคลื่นไส้ อาเจียน เป็นอัมพาต การหายใจล้มเหลวเสียชีวิตได้ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินเข้าไป พิษนี้ไม่มียารักษา ร่างกายจะขับพิษออกมาเอง การดูแลจะเน้นตามอาการ โดยเฉพาะระบบการหายใจ เนื่องจากพิษจะไปจับที่ปลายประสาทที่เกาะตามกล้ามเนื้อกระบังลมและแขนขา จะเป็นอัมพาตชั่วคราว จากการประเมินสถานการณ์ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากลูกชิ้นในรอบ 24 ชั่วโมงแรก พบว่ากว่าร้อยละ 50 อาการดีขึ้น ขณะนี้มีผู้ป่วนนอนรักษาในโรงพยาบาลอีก 32 ราย อยู่ที่รพ.บ้านหลวง 6 ราย รพ.น่าน 26 ราย อยู๋ในไอซียู 5 ราย แต่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่มีผู้ป่วยใหม่ในหมู่บ้านเพิ่มเติม **20 เมษายน 2551


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ