กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระบรมราชชนก และมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ลงนามความร่วมมือพัฒนาบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ฯ และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม 93 แห่งทั่วประเทศ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข มีหมอ 3 คนดูแลทุกครอบครัว ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพใกล้บ้าน

          วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมชาย ธรรมสารโสภณ อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาโท การพัฒนาหลักสูตรผู้นำ และหลักสูตรปรับฐานวิชาการแพทย์แผนไทย พร้อมทั้งรับมอบรถพยาบาลฉุกเฉิน 2 คัน มูลค่า 2 ล้าน 6 แสนบาท จากบริษัทซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อมอบให้ สอน.บ้านโป่งสา อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และสอน.ไอปาโจ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และประชุมสามัญประจำปีคณะกรรมการพัฒนา สอน. ปี 2563

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า มูลนิธิพัฒนา สอน.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน สอน. และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม ทั้ง 93 แห่งทั่วประเทศ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งให้ทุกครอบครัว มีหมอ 3 คน ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพใกล้บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดแออัดโรงพยาบาลใหญ่ จึงได้ลงนามความร่วมมือ 3 หน่วยงาน ร่วมกันติดอาวุธทางปัญญา พัฒนาองค์ความรู้การบริหารจัดการ สร้างเครือข่ายนักจัดการระบบสุขภาพ ดูแลสุขภาพประชาชนตามบริบทของพื้นที่ ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน เป็นการพัฒนากำลังคนด้านการบริหารจัดการระบบสุขภาพของประเทศ ปฏิรูประบบสุขภาพให้เกิดความเข้มแข็ง รวมถึงการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนานาประเทศ โดยใช้แนวคิดการสาธารณสุขมูลฐาน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

  สำหรับการประชุมสามัญประจำปี คณะกรรมการมูลนิธิ ฯ ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนา สอน. และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม ปี 2564 – 2565 และแผนดำเนินงานของมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปี 2564 เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ องค์กรนำความรอบรู้ สง่างามสมพระเกียรติ

          ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนา สอน.
ซึ่งมี 82 แห่ง และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม  11 แห่งทั่วประเทศ คือ การบริการเชิงรุก สอดรับกับภาวะฉุกเฉินการระบาดโรคโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ รองรับการบริการที่จะลดแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ให้บริการแบบ New normal เช่น การส่งยาโรคเรื้อรังที่บ้าน พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัคร/ จิตอาสา ทำงานเชิงรุกในชุมชนแบบ New normal และวางระบบ 3P Safety ปลอดภัยทั้งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และประชาชน รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการทำงานในระบบบริการ การสร้างจิตสำนึกรักองค์กร ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ มีการบริหารจัดการทรัพยากรและระบบกำกับติดตาม

   สำหรับ สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้คือ การพัฒนาหลักสูตรที่มีการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม ได้แก่ หลักสูตรระดับปริญญาโท และหลักสูตรระยะสั้น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร “สร้างผู้นำ” สำหรับผู้บริหารในการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ และหลักสูตร “ปรับฐานวิชาการแพทย์แผนไทยเพื่อการทำงานในระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของชุนชน และเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ

 ************************** 28 ตุลาคม 2563

 

 

 

********************************************************



   
   


View 778    28/10/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ