“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 91 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนยึดมาตรการหลัก 5 ด้านเกราะป้องกันโควิด 19 โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ล้างมือ ชี้ผลสำรวจกรมอนามัยพบประชาชนยังกังวลสถานการณ์ เกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการสวมหน้ากาก ปฏิบัติจริงเพียงร้อยละ 52 รับรู้เรื่องการเว้นระยะห่าง แต่ทำเป็นประจำเพียงร้อยละ 59 ย้ำลอยกระทงสวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลล้างมือ เลี่ยงจุดที่แออัด
วันนี้ (30 ตุลาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวมาตรการหลักในการป้องกันการระบาดซ้ำโรคโควิด 19 สำหรับประชาชน ว่า ในการป้องกันการระบาดซ้ำของโรคโควิด 19 สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนและผู้ประกอบการ ในการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยนำแบบจำลอง Swiss Cheese Model ที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกว่าเป็นแนวทางที่ทำให้เห็นภาพของแต่ละขั้นตอนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเปรียบเทียบแต่ละมาตรการเสมือนชีส 1 แผ่น ความผิดพลาดของมาตรการคือ รูที่แผ่นชีส ซึ่งความผิดพลาดแต่ละมาตรการมักเกิดไม่พร้อมกัน รูที่แผ่นชีสจึงไม่ตรงกัน แต่หากทุกมาตรการล้มเหลวพร้อมกัน ก็จะเกิดรูตรงกันทุกแผ่นชีส จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนั้นมาตรการหลัก 5 ด้านสำคัญที่เป็นเกราะป้องกันโควิด 19 ของไทยเปรียบเสมือนชีส 5 แผ่น ได้แก่ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล สถานประกอบการต้องมีที่ล้างมือ, สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะ, เว้นระยะห่าง, มีระบบระบายอากาศ, ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี ในบางสถานที่หรือสถานการณ์อาจทำไม่ได้ครบทั้ง 5 ด้าน ขอให้เข้มด้านใดด้านหนึ่ง ที่สำคัญคือการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ
นายแพทย์สราวุฒิกล่าวว่า กรมอนามัยได้สำรวจมุมมองประชาชนต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 23 – 27 ตุลาคม 2563 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 8,112 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 94.71 มีความกังวลต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.42 เห็นด้วยกับมาตรการสวมหน้ากากป้องกันโควิด 19 เมื่อออกจากบ้าน ขณะที่ในทางปฏิบัติมีเพียงร้อยละ 52.58 ที่สวมหน้ากากตลอดเวลา แม้ไม่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก และเป็นไข้ และร้อยละ 43.85 สวมหน้ากากเป็นบางเวลา สำหรับสถานที่ที่ประชาชนสวมหน้ากากมากที่สุดคือห้างสรรพสินค้า/ ร้านค้าร้อยละ 92 รองลงมาคือสถานที่แออัด เช่น การจัดประชุม/อบรม/ สัมมนา/ ตลาดนัด หรือการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ร้อยละ 90, โรงพยาบาล ฟิตเนส ร้อยละ 83, สถานที่ทำงานร้อยละ 78, สถานศึกษาร้อยละ 62.44, โรงแรม รีสอร์ทร้อยละ 60 ที่น่ากังวลคือ สถานบันเทิง และยานพาหนะสาธารณะสวมเพียงร้อยละ 49
สำหรับการรับรู้ต่อแนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคม พบว่า ร้อยละ 92 รับรู้ครบถ้วนทั้ง 8 ข้อ คือ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตรจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นและพื้นผิววัสดุ/การเดินทางออกนอกบ้าน/ การใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องพบปะโดยตรงกับผู้อื่น ทำงานที่บ้าน เมื่อมีอาการไข้ ไอ จามจะแยกตัวจากผู้อื่น และกักตนเอง 14 วันหลังเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่มีการปฏิบัติในการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นประจำ-ค่อนข้างบ่อยร้อยละ 59, ปฏิบัติบางครั้ง-น้อยครั้งร้อยละ 29 และไม่เคยทำเลยร้อยละ 12
ทั้งนี้ ประชาชนที่ไปเที่ยวงานลอยกระทง แนะนำให้พกแอลกอฮอล์เจลติดตัวและล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงจุดที่มีคนหนาแน่นมาก หากไม่สบายมีไข้ให้พักอยู่บ้าน หรือลอยกระทงออนไลน์
********************************** 30 ตุลาคม 2563
**********************************