คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เห็นชอบการลดจำนวนวันกักกันโรคจาก 14 เหลือ 10 วัน  โดยเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น จีน เวียดนาม ไต้หวัน เป็นต้น ให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ จากการศึกษาข้อมูลพบว่า การกักกันโรค 10 วัน และ 14 วัน มีความเสี่ยงไม่ต่างกันมากนัก แต่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างรัดกุม เตรียมเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป

          วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ  นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 ครั้งที่ 1/2564 มีการพิจารณาเรื่องการกักกันโรคผู้เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Special Tourist Visa (STV) ระยะเวลา 14 วัน โดยเห็นชอบรูปแบบของการกักตัวในพื้นที่ท่องเที่ยวเฉพาะ หรือ Exclusive Travel Area (ETA) โดยไม่ได้อยู่แต่ภายในห้องพักโรงแรม แต่จะอยู่ในพื้นที่และเส้นทางที่กำหนดไว้ ไม่ให้ปะปนกับผู้คนภายนอก หากกักตัวครบกำหนดก็สามารถไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ โดยอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสามารถรับมือได้หากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่

          นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการลดจำนวนวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น จีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มประเทศเสี่ยงสูงยังกักตัว 14 วันตามเดิม เนื่องจากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการพบว่า การกักตัว 14 วัน และ 10 วัน ความเสี่ยงไม่แตกต่างกันมากนักภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ขณะที่การศึกษาจากข้อมูลจริงที่ได้จากประสบการณ์การกักตัวที่ผ่านมา โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ได้ศึกษาในกลุ่มผู้เดินทางจากประเทศเดียวกัน 77 ราย และกลุ่มที่เดินทางจากสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น กาตาร์ คาร์ซัคสถาน รวม 458 ราย โดยออกแบบตรวจหาเชื้อในช่วงวันที่ 1-3,  7-9 และ 11 ควบคู่กับการตรวจแอนติบอดี พบว่า คนติดเชื้อในช่วง 10 วันแรกเท่านั้น ส่วนหลัง 10 วันพบเพียง 1 ราย แต่ตรวจเลือดพบแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด 19 แสดงว่าติดเชื้อมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ

          “เมื่อออกจากสถานที่กักกันโรคที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine : ASQ) ซึ่งเบื้องต้นกำหนดเป็นพื้นที่ส่วนกลางก่อน จะมีมาตรการติดตามตัว ด้วยแอปพลิเคชันหรือกรณีอาจเกิดปัญหาจะโทรสอบถามอาการ  เน้นย้ำผู้ดูแลกลุ่มนักท่องเที่ยวให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และให้ไปท่องเที่ยวในเฉพาะจังหวัดที่สำรวจแล้วมีความพร้อม ทั้งการควบคุมป้องกันโรค สถานพยาบาล ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเบื้องต้นมี 10 จังหวัด เช่น ชลบุรี บุรีรัมย์ เป็นต้น แม้จะพบผู้ติดเชื้อหลังออกจากสถานที่กักกันก็มีระบบควบคุมป้องกันโรคและรักษาพยาบาลรองรับ ทั้งนี้ จะนำเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

          สำหรับการปรับมาตรการใน ASQ ซึ่งได้ทบทวนจากกรณีหญิงฝรั่งเศสพบว่า มาตรการต่างๆ ที่วางไว้ดีอยู่แล้ว ไม่ได้ผิดพลาดแต่อย่างใด แต่ต้องให้สถานบริการที่เป็น ASQ ทำตามอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการใช้พื้นที่ส่วนกลางต้องเข้มข้นมาตรการมากขึ้น

  ******************************  5 พฤศจิกายน 2563

**********************************************



   
   


View 3114    05/11/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ