ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา เผยฤดูหนาวอากาศเย็นชื้นไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น พบโรค RSV และโรคหวัดมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนคนไทยเริ่มการ์ดตก ห่วงแยกอาการจากโรคโควิด 19 ได้ยาก ขอคนไทยยังสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ขณะที่การใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด 19 ปอดบวมให้ผลดี พัฒนาทำเซรุ่มแล้ว 600 ขวด ไว้ใช้ในยามจำเป็นในอนาคต เก็บรักษาได้นาน 3 ปี

          วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวโอกาสติดเชื้อโควิด 19 ในฤดูหนาวและข้อแตกต่างจากโรคติดเชื้อทาเงดินหายใจอื่น ว่า การต่อสู้กับโรคโควิด 19 เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนในระยะยาว ซึ่งขณะนี้โรคโควิด 19 ระบาดใกล้ครบ 1 ปีแล้ว ประเทศไทยพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรค หากเปรียบเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ถือว่ายังไม่ถึงครึ่งทาง คาดว่าอีก 1-2 ปี โรคถึงจะสงบลง ดังนั้น ยังคงต้องใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่หรือ New Normal ไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่ยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง จึงขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งการ์ดตก

              "ในปี 2564 ประเทศไทยจะยังอยู่กับโรคโควิด 19 แม้อาจเบาบางลง แต่ยังไม่ถึงกับสงบ การที่โรคโควิด 19 จะสงบลง จะต้องมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยร้อยละ 60 ของประชากร แต่เราไม่สามารถปล่อยให้โรคสงบลงโดยมีผู้เสียชีวิตในอัตราร้อยละ 1 ของประชากร เหมือนสมัยโรคไข้หวัดใหญ่สเปนได้ ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยมีประชากร 8 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 8 หมื่นคน ปัจจุบันเรามีประชากร 70 ล้านคน หากต้องเสียชีวิตถึง 7 แสนคนแล้วโรคสงบลง จึงเป็นตัวเลขที่เรายอมรับไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ทุกคนยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด เพื่อเอาชนะโรคนี้ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือการทำให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 60 ของประชากรเช่นกัน คือประมาณ 40 ล้านคน ทำให้ต้องใช้วัคซีนไม่น้อยกว่า 80 ล้านโดส ในกรณีมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีประสิทธิภาพ 70-90 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องฉีดให้ประชากรมากกว่าร้อยละ 60 อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้รับวัคซีนทุกคนภายในปีหน้า" ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง กล่าว

              ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง กล่าวว่า  การทำให้ไวรัสนี้หมดไปจากโลกยังเป็นเรื่องยากเช่นกัน เนื่องจากแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ แต่หากควบคุมให้โรคสงบลงได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาตามฤดูกาล แต่ที่ต้องระวัง คือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และความดัน ที่การติดเชื้ออาจทำให้มีอาการรุนแรง สำหรับช่วงฤดูหนาว ไวรัสจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น            โดยอุณหภูมิติดลบ 70 องศาเซลเซียส สามารถอยู่ได้ตลอดไป ติดลบ 20 องศาเซลเซียสอาจอยู่ได้เป็นปี 0 องศาเซลเซียสอยู่ได้หลายเดือน เรียกว่าอุณหภูมิสูงขึ้นอายุไวรัสจะยิ่งสั้นลง แต่ประเทศไทยไม่ได้มีอากาศหนาวเย็นแบบซีกโลกเหนือและอากาศหนาวก็อยู่ไม่นาน สมมติประเทศไทยมีอากาศหนาวประมาณ 4 องศาเซลเซียส ถามว่าไวรัสจะอยู่ได้กี่วัน คงไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องความชื้น สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นด้วย แต่ประมาณได้ว่าอยู่ได้เป็นวันๆ สิ่งสำคัญคือ การทำความสะอาด และล้างมือบ่อยๆ ดังนั้น ประเทศไทยโรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่จึงระบาดในฤดูฝนมากกว่า แต่ฤดูหนาวก็ยังระบาดได้ง่ายกว่าฤดูร้อนเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ จึงเป็นอีกช่วงที่มีการระบาดของโรคทางเดินหายใจสูง และทำให้แยกอาการจากโรคโควิด 19 ได้ยาก หากไม่ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ โรคทางเดินหายใจที่พบมากในฤดูหนาว มี 3 โรคได้แก่ โรค RSV โรคไข้หวัดจากเชื้อไรโนไวรัส และโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ โรค RSV พบว่าระบาดช้าลงจากเดิมพบในฤดูฝน แต่ปีนี้พบการระบาดช่วงกันยายนเป็นต้นมา นับตั้งแต่เปิดเทอมช่วงสิงหาคม และเริ่มเจอโรคหวัดเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มอายุ สะท้อนว่า เราเริ่มการ์ดตก สวมหน้ากากน้อยลง เว้นระยะห่างน้อยลง จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันมากขึ้น

              ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง กล่าวว่า สำหรับการทำพลาสมาที่มีภูมิต้านทานระดับสูง ซึ่งได้จากการบริจาคของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 เพื่อนำมารักษาผู้ป่วยนั้น ขณะนี้มีการบริจาคมากกว่า 400 หน่วยแล้ว โดยมีอายุประมาณ 1 ปี ล่าสุดมีการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่อยู่ในสถานกักกันที่รัฐกำหนดและตรวจพบเชื้อ โดยมีโรคปอดบวมค่อนข้างรุนแรง โดยให้ 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน ขณะนี้ผ่านมาแล้วประมาณ 10 วัน ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ ยังนำพลาสมาจำนวนครึ่งหนึ่งมาทำเป็นเซรุ่มได้ประมาณ 600 ขวด ขวดละ 2 มิลลิลิตร ซึ่งมีความเข้มข้นอย่างมาก เก็บได้นานถึง 3 ปี ซึ่งในอนาคตหากประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยโควิด 19 พลาสมาที่เหลือจะนำมาทำเป็นเซรุ่มต่อไป เพื่อนำมาใช้เมื่อยามจำเป็น

*****************************  25 พฤศจิกายน 2563



   
   


View 1108    25/11/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ