กระทรวงสาธารณสุขยืนยันการดำเนินการจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้คนไทยโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน มีมาตรการเข้มป้องกันการทุจริต มีการนำไปใช้อย่างเหมาะสม กลุ่มเป้าหมายเพื่อรับวัคซีน จะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ

          วันนี้ (2 ธันวาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ พร้อมด้วยนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมแถลงความคืบหน้าการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 โดย นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า จากกรณีมีผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ การดำเนินการเรื่องวัคซีนโควิด 19 ว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนการนำไปฉีด ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีการจัดหาที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีการจองซื้อ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อผลิตและนำมาฉีดให้กับคนไทยจำนวน 26 ล้านโดส ทั้งหมดไม่ได้จัดส่งในครั้งเดียว ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกันจัดเตรียมแผนไว้อย่างครบถ้วน ในการกระจายวัคซีน  สำหรับประเด็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับวัคซีน จะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ โดยพิจารณาจากปัจจัย เช่น ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ความรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต เช่นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัว รวมถึงมีข้อกำหนดและการควบคุมการนำไปฉีดที่ชัดเจน

           นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการวัคซีนหลังได้มา คุณภาพของวัคซีนจะพิจารณาตั้งแต่ทำการทดลองสำเร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะร่วมตรวจสอบทุกล็อตที่ส่งมอบ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่รับมามีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ระบบขนส่งจะมีระบบลูกโซ่ความเย็น อยู่ในอุณหภูมิที่กำหนดทำให้วัคซีนไปถึงปลายทางต้องมีคุณภาพเท่ากับตอนที่ผลิตจากโรงงาน  ด้านความปลอดภัยของวัคซีนในระยะทำการทดลองฉีด อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ไข้ เจ็บ ปวดบวม จนกระทั่งผลขั้นร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีระบบติดตามตรวจสอบตามหลักสากล (AEFI) ขณะที่ความมั่นคงความปลอดภัยการบริหารจัดการวัคซีน จะมีการควบคุมดูแลกำกับอย่างเข้มข้นเป็นระบบเพื่อป้องกันการทุจริตหรือนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างครบถ้วนที่สุด เกิดปัญหาน้อยที่สุด

           ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณสนับสนุน การจัดหาวัคซีนเบื้องต้น 26 ล้านโดส เพื่อทยอยจัดให้กับประชาชนตามกลุ่มเป้าหมาย เป็นการจองซื้อกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกับ ออกซฟอร์ด เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับประเทศ ซึ่งเป็นหลักประกันว่าจะมีวัคซีนมาฉีดให้กับคนไทยอย่างแน่นอน โดยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนส์ จำกัด เป็นผู้ผลิต ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนไม่ได้นำเข้า นับเป็นส่วนสำคัญเนื่องจากการผลิตวัคซีนโควิด 19 และเทคโนโลยีที่ได้รับเป็นศักยภาพของประเทศเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพ ในการรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

           นายแพทย์นคร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีโอกาสจัดหาวัคซีนเพิ่มขึ้นจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ผ่านบริษัท สยามไบโอไซเอนส์ จำกัด หรือ บริษัทอื่น ซึ่งการเจรจาต่างๆ ที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดูเงื่อนไข ข้อดีข้อเสียและข้อตกลงเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ได้รับวัคซีนทันเวลาไม่ล่าช้า มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันโรค อย่างไรก็ตามภาครัฐยังมีแผนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 อื่นๆ รองรับการวิจัยในประเทศยังคงเดินหน้าต่อไป เครือข่ายวิจัยวัคซีนในประเทศทั้ง มหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชน เพื่อการได้มาของวัคซีนที่เพิ่มขึ้น 

   ************************* 2 ธันวาคม 2563

*********************************



   
   


View 1632    02/12/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ