รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา จ.เชียงรายนำความห่วงใยจากนายกรัฐมนตรี ถึงเจ้าหน้าที่ ประชาชน ร่วมป้องกันโรคโควิด19 ยืนยันระบบป้องกันควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ นำผู้ติดเชื้อรักษารวดเร็ว ค้นหาผู้สัมผัสครบ ขอประชาชนเข้าเมืองแบบถูกต้อง ไม่ปกปิดประวัติเสี่ยง  ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง

          วันนี้ (8 ธันวาคม2563) ที่จ.เชียงราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรคและคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ด่านพรมแดนแม่สาย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2,  สถานที่กักกัน (Local Quarantine) โรงแรมแม่โขงเดลต้า และตรวจเยี่ยมสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัด

          นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้ได้นำความห่วงใยของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาให้เจ้าหน้าที่ ประชาชนในพื้นที่ จากเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ลักลอบเข้าเมืองจาก จ.ท่าขี้เหล็ก นำเชื้อโควิด 19 เข้ามาในประเทศไทย มั่นใจว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่ดำเนินการควบคุมป้องกันโรค ไม่ถือว่าเป็นการแพร่ระบาด ขอให้ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวมั่นใจถึงประสิทธิภาพของระบบการป้องกันควบคุมโรคของ จ.เชียงราย และของประเทศไทย ที่สามารถตรวจจับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้รวดเร็ว นำเข้าระบบการรักษาทันที พร้อมติดตามผู้สัมผัสได้อย่างครบถ้วน ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ไม่กระจายไปในวงกว้าง ข้อมูลล่าสุด (8 ธันวาคม 2563) มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก เข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ 17 ราย มาทางจุดผ่านแดนและเข้าสถานที่กักกัน 27 ราย และเป็นผู้สัมผัสในไทยอีก 2 ราย รวมเป็น 46 ราย รับไว้รักษา ที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา กทม. พิจิตร และราชบุรี

          สำหรับการดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เชิงรุกในพื้นที่ดำเนินการทั้งในพื้นที่ จ.เชียงราย – เชียงใหม่ด้วยรถตรวจเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน 3 คัน ระหว่างวันที่ 2-8 ธันวาคม 2563 จำนวน 4,228 ราย ได้ผลลบทั้งหมด ส่วนการคัดกรองผู้เดินทางผ่านด่านควบคุมโรคแม่สาย ผู้เดินทางทั้งไทยและเมียนมาสะสม ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2563 จำนวน 13,098 ราย ในด้านการเตรียมพร้อมรองรับผู้เดินทางกลับจากจ.ท่าขี้เหล็ก มีสถานที่กักกัน 9 แห่งที่ จ.เชียงราย สามารถรองรับได้ 550 คน ขณะนี้มีผู้กักกันคงเหลือ 169 คน ส่วนห้องแยกความดันลบ อุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ มีสำรองไว้อย่างเพียงพอ

          อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ ได้สั่งการให้ดำเนินการดังนี้ 1.ประสานฝ่ายความมั่นคง ยกระดับการเฝ้าระวังตามแนวชายแดน ทั้งช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศและช่องทางธรรมชาติ  2.เปิดช่องทางพิเศษรับคนไทยกลับจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ให้ด่านฯสามารถอนุญาตให้เข้ามาได้เลย 3.ให้ อสม.เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ โดยให้ผู้ที่เดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็กเดือนพฤศจิกายน มารายงานตัว และรับการตรวจคัดกรองทุกคน 4.เตรียมความพร้อมบริหารจัดการทรัพยากร ยกระดับการจัดการหากมีผู้ป่วยมากขึ้น 5.เพิ่มความเข้มข้นมาตรการป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค และ6.การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน ป้องกันการเกิดข่าวปลอม /ข่าวลวง

          “ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งด้านการรักษาทีมสอบสวนโรค ยา เวชภัณฑ์ ขอประชาชนร่วมมือไม่ปกปิดประวัติเสี่ยง คาดว่ามีพี่น้องเราไปทำงานที่ จ.ท่าขี้เหล็กไม่เกิน 500 คน เข้ามาแล้วบางส่วน ที่เหลืออีกไม่มาก ให้เข้ามาแบบถูกต้อง หากป่วยจะได้รับการรักษาทันทีไม่แพร่โรคให้ครอบครัว คนใกล้ชิด ไม่กระทบต่อระบบป้องกันควบคุมโรค เศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวของประเทศ  และที่สำคัญต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก สวมหน้ากาก เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างตามความจำเป็น ช่วยไม่ให้โรคโควิด 19ระบาดซ้ำ” นายอนุทินกล่าว

          สำหรับภาพรวมเขตสุขภาพที่ 1 มีทรัพยากรรองรับ อาทิ ห้องแยกความดันลบ 215 ห้อง ห้องแยกโรค 304 ห้อง ICU และ NICU 517 เตียง โรงพยาบาลสนาม 1,741 เตียง (กรณีมีการระบาด) มีสถานที่กักกัน 29 แห่ง รองรับได้ 2,083 คน มีหน้ากากอนามัย จำนวน 5.1 ล้านชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 5 หมื่นกว่าชิ้น Face shield 1.2 แสนชิ้น Cover all จำนวน 6.5 หมื่นชุด เสื้อกาวน์กันน้ำ จำนวน 2.9 หมื่นชุด ถุงมือยาง จำนวน 1.8 ล้านชิ้น เพียงพอต่อการใช้งานมากกว่า 3เดือน

  **************************************  8 ธันวาคม 2563

***************************************



   
   


View 1930    08/12/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ