รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสายพานการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม กำลังการผลิตสูงสุด 8 แสน - 1 ล้านชิ้นต่อเดือน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอต่อการใช้งาน ประชาชนได้ใช้ในราคาถูก

    วันนี้ (16 ธันวาคม 2563) ที่องค์การเภสัชกรรม (คลอง 10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิด “สายพานการผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อความมั่นคงทางการแพทย์”

       นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่าหรือประมาณ 200 ล้านชิ้นต่อเดือน จากภาวะปกติอยู่ที่ 30 - 40 ล้านชิ้นต่อเดือน และที่ผ่านมามีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและหาซื้อได้ยาก จึงให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพใช้อย่างเพียงพอ โดยกระจายให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ และบางส่วนจำหน่ายให้แก่ประชาชนผ่านร้านขายยาทั้ง 8 สาขา และร้านค้าออนไลน์ขององค์การเภสัชกรรม เพื่อให้คนไทยได้ใช้หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพและราคาถูก เนื่องจากการสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันการรับและแพร่กระจายเชื้อ พิสูจน์ได้ว่าการสวมหน้ากากเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคโควิด 19 และโรคระบบทางเดินหายใจอีกหลายโรค จนทำให้ไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 อยู่ในระดับต่ำ จนเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมาจากความร่วมมือของประชาชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

“สายพานการผลิตหน้ากากอนามัยขององค์การเภสัชกรรม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกำลังการผลิตในประเทศ แต่จะเป็นสายการผลิตหน้ากากอนามัยที่มีมาตรฐาน เพื่อเป็นตัวอย่างของหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศไทยอีกด้วย” นายอนุทินกล่าว 

      ด้านนายแพทย์วิฑูรย์กล่าวว่า สายการผลิตหน้ากากอนามัยขององค์การเภสัชกรรม ได้รับการอนุญาตจากกองเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เป็นสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ ประเภทหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียว ชนิดมาตรฐานการป้องกันระดับที่ 1 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลทั่วไป คุณสมบัติป้องกันอนุภาคปนเปื้อนชนิดต่างๆ ที่อยู่ในอากาศ โดยในระยะแรกมีกำลังการผลิต 8 แสน -1 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือ 9 - 11 ล้านชิ้นต่อปี สำหรับแผนในระยะถัดไปจะผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ชนิดมาตรฐานการป้องกันระดับที่ 2 เพื่อใช้งานในหน่วยฉุกเฉิน ทันตกรรม การรักษาแผลขนาดเล็ก หรือการรักษาที่อาจมีการสัมผัสเลือดเล็กน้อย มีความสามารถในการกรองแบคทีเรียและกรองอนุภาคขนาดเล็ก (0.1 micron) ได้ถึง 98 % และสามารถต้านของเหลวซึมผ่านได้ที่ความดันน้อยที่สุด 120 มิลลิเมตรปรอท เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้งานให้เหมาะสม นอกจากนี้ได้มีการเตรียมการสำหรับขยายกำลังการผลิต โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศ เพื่อผลิตหน้ากากอนามัย ภายใต้มาตรฐานคุณภาพคุณสมบัติเดียวกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ความมั่นใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนว่าจะมีหน้ากากอนามัยสำหรับใช้งานอย่างเพียงพอ

********************************16 ธันวาคม 2563

 

**************************************

********************************

 

 



   
   


View 4124    16/12/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ