ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 125 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วม 2 หน่วยงาน วางแผนการดำเนินงานพัฒนาและสนับสนุนวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA เพื่อทำข้อมูลเสนอ ครม.พิจารณา เบื้องต้นอาจทดลองเข็มแรกในมนุษย์หลังสงกรานต์
วันนี้ (18 ธันวาคม 2563) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หารือแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนการผลิตวัคซีนโควิด 19 ของคนไทย ร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย มี 3 แนวทาง คือ 1. การทำความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้มีโอกาสได้วัคซีนเร็วขึ้น 2. การจัดซื้อวัคซีนเพื่อนำมาใช้ในประเทศ ซึ่งสองแนวทางนี้ประเทศไทยมีความร่วมมือกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัดและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในการจองและซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส คาดว่าจะฉีดให้แก่ประชาชนไทยกลุ่มเป้าหมายได้ในกลางปี 2564 และ 3. การวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศเพื่อให้ผลิตได้เอง ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน อย่างการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้สนับสนุนงบในการดำเนินการไปแล้ว 355 ล้านบาท
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการหารือร่วมกับทีมพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อสรุปว่า จะมีการตั้งคณะทำงานร่วม 2 หน่วยงาน 1 ชุด ซึ่งฝั่งกระทรวงสาธารณสุขมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นตัวแทน หารือร่วมกับทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ได้แผนการดำเนินงานการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด 19 ให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลในการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากสามารถดำเนินการได้ตามแผน คาดว่าจะทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 เข็มแรกได้หลังสงกรานต์ 2564
********************************* 18 ธันวาคม 2563
*************************************