“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 14 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขร่วมเอสซีจี โลจิสติกส์ ใช้ระบบ GPS ปัญญาประดิษฐ์ ติดตามรถพยาบาลฉุกเฉินแบบ Real Time กำหนดขับไม่เกิน 90 กม./ชม. ไปกลับเกิน 400 กม.ต้องมีคนขับ 2 คน หากพบความเสี่ยงจะแจ้งเตือนทันที นำร่องพื้นที่ จ.อุดรธานี พบช่วยลดอุบัติเหตุ ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและบุคลากร เดินหน้าลงนามขยายความร่วมมือครอบคลุมระดับเขตและประเทศ รวมถึงรถกู้ชีพมูลนิธิและ อปท.
วันนี้ (21 ธันวาคม 2563) ที่ห้องประชุมธนกร ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ อ.เมือง จ.อุดรธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาความปลอดภัยของรถพยาบาล (Ambulance Safety Solution) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และบริษัทเอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด
นายอนุทินกล่าวว่า ข้อมูลในปี 2559-2563 เกิดอุบัติเหตุกับรถฉุกเฉินรวม 156 ครั้ง บุคลากรทางการแพทย์ได้รับบาดเจ็บ 139 ราย เสียชีวิต 4 ราย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างส่งต่อผู้ป่วยร้อยละ 80 จากการสอบสวนอุบัติเหตุพบว่า ปัจจัยหลักเกิดจากพฤติกรรมพนักงานขับรถร้อยละ 67 คือ หลับใน ขับรถเร็วเกินกำหนด และฝ่าไฟแดง ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมร้อยละ 31 ได้แก่ ฝนตก ถนนลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ และถูกคู่กรณีชน และปัจจัยเรื่องรถพยาบาลร้อยละ 2 คือ ยางระเบิด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ จึงกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลและความคุ้มครองอุบัติเหตุทางถนน เช่น การติดตั้ง GPS ที่ได้มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก เพื่อกำกับติดตามการใช้รถพยาบาลและพฤติกรรมของพนักงานขับรถ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ หากพบความเสี่ยงจะมีระบบแจ้งเตือนเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
สำหรับโครงการพัฒนาความปลอดภัยของรถพยาบาล (Ambulance Safety Solution) ได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยนำระบบ GPS ปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด มาใช้ติดตามรถพยาบาลฉุกเฉินแบบครบวงจร ดำเนินการครอบคลุมรถพยาบาลของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 99 คัน พร้อมตรวจสุขภาพและพัฒนาสมรรถนะการให้บริการของพนักงานขับรถ และจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อการขับขี่รถพยาบาลปลอดภัย ได้แก่ กำหนดความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปฏิบัติตามกฎจราจร หากขับรถต่อเนื่องควรหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง ระยะเวลาทำงานไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน กรณีนำส่งผู้ป่วยระยะทางไปกลับเกิน 400 กิโลเมตร ควรมีพนักงานขับรถ 2 คน เกิน 800 กิโลเมตร ต้องมีการพักค้างคืนระหว่างการเดินทาง ทำให้สามารถติดตาม กำกับการบริการตลอดเส้นทางการเดินทาง ทั้งระยะทาง ความเร็วรถ พฤติกรรมพนักงานขับรถ ได้แบบ Real Time และมีระบบแจ้งเตือนกรณีเกิดความเสี่ยง เชื่อมโยงไปถึงระหว่างโรงพยาบาลรับ-ส่งผู้ป่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมการให้บริการได้รวดเร็ว จากการประเมินผลการดำเนินการพบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลง จึงได้ลงนามเพื่อขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีมีสถิติรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุระหว่างปี 2559-2562 จำนวน 9 ครั้ง แต่ภายหลังดำเนินการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563 ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จากนี้มีเป้าหมายจะขยายให้ครอบคลุมถึงรถรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน (กู้ชีพ) ของมูลนิธิ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีจะเป็นต้นแบบให้หน่วยบริการได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อขยายการทำงานในระดับเขตและประเทศต่อไป
***************************** 21 ธันวาคม 2563
************************************************