นายกฯ ห่วงใย "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับ สธ.ดูแลผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกาย-จิต เน้นกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด
- สำนักสารนิเทศ
- 43 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ควบคุมโควิด 19 ในโรงงานขนาดใหญ่ 7 แห่ง จังหวัดสมุทรสาคร อาศัยความร่วมมือสถานประกอบการจัดระบบที่พัก ขนส่งพนักงาน โรงงานเดินหน้าต่อได้ ส่วนโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตรวจหาเชื้อเชิงรุกต่อเนื่อง พร้อมให้โรงงานเข้มการป้องกันโรค
วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2564) ที่จ.สมุทรสาคร นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยนายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามและร่วมวางแผนแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังพบจุดเสี่ยงสำคัญการติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในโรงงานเป็นหลัก จึงต้องบริหารจัดการโดยใช้มาตรการทางสังคมและมาตรการองค์กร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบกลยุทธ์เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ใช้หลักการจัดการโควิด 19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก เน้นในโรงงานขนาดใหญ่ (มีพนักงานมากกว่า 500 คน) เป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรคให้ได้ตามแผนที่วางไว้
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสถานประกอบการ เรื่องลักษณะที่พัก การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันพนักงานในสถานที่ทำงาน และมาตรการของโรงงานในการกำกับดูแล พบมี 7 โรงงานที่เข้าเกณฑ์ที่จะดำเนินการตามหลักการ Bubble and Seal มีพนักงานรวม 50,083 คน ขณะนี้ 3 โรงงานเริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนอีก 4 โรงงานเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีที่พักให้กับพนักงาน จะประสานหาแนวทางและปรับรูปแบบที่เหมาะสมให้สามารถควบคุมโรคได้ ส่วนในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังคงใช้หลักการตรวจหาเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะนำออกมารักษาตามระบบ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อให้ทำงานต่อได้
สำหรับหลักการจัดการโควิด 19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) คือ Seal ใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ เอื้อต่อการใช้มาตรการ คาดว่าใช้เวลา 28 วันจะสามารถควบคุมโรคได้ ส่วน Bubble ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน จะมีการควบคุมโรคที่ยากกว่า ขอความร่วมมือเจ้าของโรงงานนำพนักงานมาอยู่ในโรงงานให้มากขึ้น หรือจัดหาที่พักพนักงานให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ควบคุมได้ เช่น หอพัก พร้อมให้โรงงานเข้มมาตรการป้องกันโรค นอกจากนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผน ส่วนเรื่องการปิดโรงงานจะดำเนินการเป็นวิธีสุดท้าย นอกจากพบว่าเป็นแหล่งเพาะเชื้อและไม่สามารถควบคุมโรคได้จะประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อออกคำสั่งต่อไป
******************************* 2 กุมภาพันธ์ 2564
*******************************