กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบ 30 ล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เพิ่มเจ้าหน้าที่และนักจิตวิทยาดูแลปัญหาจิตใจรวมกว่า 200 คน ผลสำรวจล่าสุดพบกว่าครึ่งฝันร้าย นอนผวาทั้งคืน เตรียมนำร่องตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบ ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เผยในรอบ 15 เดือนนี้ สูญค่ารักษาแล้วกว่า 14 ล้านบาท วันนี้ (14 พฤษภาคม 2551) ที่โรงแรมเจ บี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะผู้บริหาร ร่วมเปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัย นักจิตวิทยา พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 300 คน ให้สามารถจัดบริการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขภายใต้สถานการณ์วิกฤติได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาระบบความปลอดภัยและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงมีนาคม 2551 มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้น 7,367 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 5,594 ราย เสียชีวิต 2,762 ราย ในจำนวนนี้มีสถานีอนามัยถูกวางเพลิง วางระเบิด รวม 12 แห่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ 23 ราย เสียชีวิต 15 ราย ที่สำคัญคือ อสม. ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่เอง ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ 10 ราย และเสียชีวิต 38 ราย ในการแก้ไขปัญหาและจัดบริการดูแลสุขภาพประชาชน กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นให้บริการอย่างเสมอภาค ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ โดยเพิ่มบริการด้านสุขภาพจิต เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นยืดเยื้อต่อเนื่องมากว่า 4 ปี โดยจัดตั้งศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาลชุมชนในยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในสงขลา รวม 35 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ นักจิตวิทยาที่ผ่านการอบรมทักษะการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจกว่า 200 คน ให้การดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากความรุนแรง ซึ่งมีประมาณ 8,000 คน นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ได้พัฒนาศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตในโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน เพิ่มนักจิตวิทยาในพื้นที่อีก 74 คน เพื่อให้เพียงพอ และเตรียมจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเยียวยาที่มีครบทุกสาขาวิชาชีพ นำร่องเป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เพื่อพัฒนาระบบการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ เห็นความรุนแรงต่อหน้า กำพร้าพ่อ แม่ หรือผู้ดูแล รวมทั้งเด็กที่รับรู้ความรุนแรงจากการบอกเล่าหรือผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจมีการจดจำภาพฝังใจและส่งผลกระทบทางจิตใจเมื่อเติบโตขึ้นได้ โดยในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณไว้ 30 ล้านบาทเศษ นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทหาร ตำรวจ ทำการวิเคราะห์ความรุนแรงเรื่องการบาดเจ็บและเสียชีวิต ลักษณะสถานที่เกิดเหตุ เวลาเกิดเหตุ จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อใช้วางแผนสนับสนุนทรัพยากรในการแก้ไขและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของเจ้าหน้าที่ สามารถติดตามเยียวยาผู้สูญเสียและครอบครัวให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยได้ตั้งศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จากการวิเคราะห์สถานการณ์ปีนี้ ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2551 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด 161 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 106 ราย บาดเจ็บ 407 ราย ใช้เวลารักษาตัวรวมทั้งหมด 1,188 วัน ค่ารักษาทั้งหมด 2,114,970 บาท จังหวัดที่เกิดเหตุสูงที่สุดได้แก่ ปัตตานี 67 ครั้ง รองลงมา ยะลา 56 ครั้ง นราธิวาส 37 ครั้ง และสงขลา 1 ครั้ง สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดบนถนน จังหวัดที่มีอัตราการบาดเจ็บสูงที่สุดได้แก่ ยะลา พบแสนละ 12 คน ปัตตานีแสนละ 9 คน นราธิวาส แสนละ 4 คน มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 361 ราย เมื่อรวมค่ารักษาผู้บาดเจ็บที่เกิดในปี 2550 จำนวน 2,362 ราย คิดเป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท นายแพทย์พิพัฒน์กล่าว ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 จังหวัดปัตตานี ซึ่งดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พัฒนาระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจ จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประเมินสถานการณ์แนวโน้มการเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยจากการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ในปี 2551 พบว่า ร้อยละ 36 ฝันร้ายเห็นเหตุการณ์ซ้ำๆ ร้อยละ 25 นอนไม่หลับเกือบทั้งคืน และร้อยละ 19 มีอาการสะดุ้งผวา ตกใจง่าย ที่เหลือมีอาการสับสน หวาดกลัว อึดอัด หายใจติดขัด โกรธแค้นคิดทำร้ายผู้อื่น และคิดอยากตายทำร้ายตนเอง จังหวัดที่มีผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสูงสุด ได้แก่ นราธิวาส ร้อยละ 44 รองลงมา ปัตตานี ร้อยละ 34 และยะลา ร้อยละ 22 ทั้งนี้ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 ได้จัดทำแนวปฏิบัติการช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในภาวะวิกฤตสุขภาพจิตอันเกิดมาจากความไม่สงบ แจกให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ 1,000 เล่ม เพื่อเป็นการพึ่งตนเองในเบื้องต้น **************************** 14 พฤษภาคม 2551


   
   


View 6    14/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ