นายกฯ ห่วงใย "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับ สธ.ดูแลผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกาย-จิต เน้นกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด
- สำนักสารนิเทศ
- 51 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยเตรียมยกระดับโรงพยาบาลสนามพื้นที่ กทม. ให้ดูแลผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลือง เพิ่มเตียงในโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยหนัก กำชับเข้มมาตรการ Bubble and Seal ในโรงงาน พร้อมปรับแผนกลยุทธ์ฉีดวัคซีนตามความเห็นทีมวิชาการ อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาวัคซีน 3 เข็มและฉีดสลับยี่ห้อ แจงนำเข้าวัควีนโมเดอร์นาไม่ล่าช้า ผู้ผลิตส่งได้ไตรมาส 4 และต้องรอเอกชนแจ้งจำนวนที่ต้องการ
วันนี้ (23 มิถุนายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่ กทม. ว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบุษราคัมช่วยดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางหรือสีเหลือง ทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อให้โรงพยาบาลหลักมีเตียงไอซียูดูแลผู้ป่วยอาหารหนักมากขึ้น ขณะนี้กำลังเตรียมยกระดับโรงพยาบาลสนามต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ให้รองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองได้ ลดโอกาสผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นอาการหนัก เพื่อให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลักดูแลผู้ป่วยหนักได้มากขึ้น และเป็นการรองรับในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ที่โรงพยาบาลบุษราคัมจะหมดสัญญากับทางอิมแพคด้วย โดยจะยกระดับโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ติดเชื้อได้จำนวนมาก อาจเปิดในพื้นที่สี่มุมเมือง รวมถึงศูนย์แรกรับนิมิบุตร หรือสนามกีฬาอินดอร์ สเตเดียม
“เรามีประสบการณ์ในการตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม สามารถตั้งขึ้นได้ใน 7 วัน โดยมีอุปกรณ์ เครื่องช่วยหายใจ และยาพร้อม ยกเว้นเพียงไอซียู และบุคลากรจากโรงพยาบาลต่างๆ สลับหมุนเวียนกันทุก 2 สัปดาห์ เชื่อว่าจะสามารถอัปเกรดโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองได้มากขึ้น ทั้งหมดอยู่ในแผนอยู่แล้ว เราทำทุกอย่างให้ทันสถานการณ์” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงงาน นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะมาตรการ Bubble and Seal ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ช่วยดูแลอย่าให้มีการเดินทางออกจากพื้นที่ Bubble and Seal โดยทีมควบคุมโรคจะเข้าไปคัดแยกผู้ป่วยตามอาการ เพื่อนำไปรักษาในโรงพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป แม้จะเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ดูแลรักษาตามหลักมนุษยธรรมเพื่อป้องกันโรค ส่วนประเด็นการตรวจสอบการลักลอบเข้าประเทศเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ฝ่ายความมั่นคง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนโควิด 3 เข็ม หรือฉีดสลับยี่ห้อ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมปฏิบัติตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง ยืนยันว่าวัคซีนที่ประเทศไทยนำมาใช้มีประสิทธิภาพสูง อย่างซิโนแวคเราทำการศึกษาที่ภูเก็ต พบภูมิคุ้มกันสูงถึง 83% เป็นการศึกษาในสถานที่จริง ส่วนกรณีสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ยังไม่มีวัคซีนชนิดไหนครอบคลุม แต่วัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้ ขณะนี้มีวัคซีนทยอยจัดส่งและจัดสรรออกไปทุกสัปดาห์ โดยสามารถฉีดวัคซีนได้แล้ว 8.1 ล้านโดส ส่วนกรณีนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาล่าช้า ไม่เกี่ยวข้องกับทางองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากตามหลักการของวัคซีนทางเลือกต้องให้ภาคเอกชนแจ้งจำนวนวัคซีนเข้ามาก่อน โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นตัวกลางหรือสะพานไปเจรจาให้ แต่ไม่ใช่การซื้อมาสต๊อกไว้แล้วนำมาขายต่อ และทางโมเดอร์นาก็แจ้งว่าสามารถส่งวัคซีนได้ในไตรมาส 4 ส่วนรายละเอียดองค์การฯ จะได้ให้รายละเอียดต่อไป
************************************** 23 มิถุนายน 2564