กระทรวงสาธารณสุข สั่งการองค์การเภสัชกรรม เพิ่มกำลังผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าเป็น 40,000 หลอดต่อวัน เพราะผู้ป่วยมากขึ้น ที่ผ่านมาพบกว่า 200,000 ราย คาดว่าจะเพิ่มอีก 2 เท่าตัว สรุปตัวเลขผู้ป่วยจนถึงขณะนี้ พุ่งกว่า 400,000 รายแล้ว พร้อมกำชับทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคติดต่อ โรคเครียด นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า จากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้ พบว่าประชาชนที่ประสบภัยป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้ามีมากขึ้น พบเกือบร้อยละ 50 ของผู้มารับบริการทั้งหมด หรือกว่า 200,000 ราย ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมเพิ่มกำลังผลิต จากวันละ 13,000 หลอดเป็นวันละ 30,000-40,000 หลอด ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 เท่าตัว เพราะน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ชาวบ้านหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มกำลังการผลิตยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งมีทั้งยาแก้ปวดลดไข้ ครีมทาผื่นคัน ยาทาแก้น้ำกัดเท้า ผงน้ำตาลเกลือแร่แก้ท้องเสีย เป็นวันละ 25,000 ชุด และยาตำราหลวงผลิตเพิ่มอีก 400,000 ชุด นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งตัวเลขตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม-19 ตุลาคม 2549 มีทั้งหมด 92 ราย มากที่สุดจากสาเหตุจมน้ำ โดยพบมากที่สุดที่จังหวัด พิจิตร และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 11 ราย รองลงมาที่ สุโขทัย นครสวรรค์ จังหวัดละ 10 ราย ที่น่าสังเกตคือ ประมาณร้อยละ 80 เป็นเด็ก จึงขอให้ผู้ปกครองระมัดระวัง อย่าให้ลูกหลานลงเล่นน้ำท่วม เนื่องจากช่วงนี้น้ำท่วมสูง บางจุดไหลเชี่ยว และดูไม่ออกว่าจุดใดลึกหรือตื้น โอกาสจมน้ำจึงมีมาก และยิ่งน้ำท่วมนานหลายวัน สภาพยิ่งสกปรกขึ้น โอกาสเจ็บป่วยจากเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำ เช่น โรคตาแดง อุจจาระร่วง ผื่นคัน ยิ่งมีมากกว่าช่วงแรกๆ หลายเท่าตัว ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยจากน้ำท่วมจนถึงขณะนี้ มีทั้งหมด 455,118 ราย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการวันละ 150 ทีม ผู้ป่วยพบมากที่สุดที่ นนทบุรี 120,821 ราย รองลงมา จังหวัดจันทบุรี 45,557 ราย พระนครศรีอยุธยา 39,868 ราย อ่างทอง 34,192 ราย สิงห์บุรี 33,922 ราย เฉพาะวันที่ 19 ตุลาคม 2549 พบผู้ป่วยกว่า 20,000 ราย โดยพบโรคเครียด 30,350 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของผู้รับบริการทั้งหมด โรคตาแดงพบ 16,782 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 โรคอุจจาระร่วงพบ 9,364 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 และถูกสัตว์มีพิษกัด ส่วนใหญ่เป็นตะขาบ 11,629 ราย ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้การดูแลผู้ประสบภัย และเฝ้าระวังโรคระบาดระหว่างน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยเพิ่มความเข้มข้นให้มากที่สุดในช่วงหลังน้ำลด ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อโรคมีการฟักตัวและเกิดโรคภัยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคฉี่หนู เชื้อรา อุจจาระร่วง ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคเครียด ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้ออกทำการพ่นสารเคมีกำจัดแมลงวันและแมลงนำโรคอื่น ๆ ในพื้นที่น้ำลด ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม เป็นต้นมา สำหรับที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ขณะนี้น้ำเริ่มลดระดับเหลือประมาณ 30 เซนติเมตร โรงบำบัดน้ำเสียใช้การได้ จะเปิดให้บริการรับผู้ป่วยในตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความสะอาดของน้ำประปา โดยเฉพาะประปาหมู่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มความเข้มงวด ในกระบวนการผลิต เนื่องจากน้ำมีการปนเปื้อนมากกว่าปกติ และหากประชาชนจะนำมาดื่มควรต้มให้เดือดก่อน ตุลาคม5/3 ****************************** 20 ตุลาคม 2549


   
   


View 14    20/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ