กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน นักท่องป่า ระวังไข้มาลาเรียต้นเหตุจากยุงก้นปล่องกัด ซึ่งมักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน รอบ 6 เดือนปีนี้ มีรายงานผู้ป่วยแล้วกว่า 10,000 ราย มากที่สุดที่ ยะลา ตาก ระนอง ชุมพร และกาญจนบุรี เสียชีวิต 26 ราย พบผู้ป่วยในเดือนพฤษภาคม มิถุนายนสูงกว่าเดือนอื่นๆ แนะนอนในมุ้ง หากมีไข้สูง หนาวสั่นเป็นเวลา ให้รีบไปพบแพทย์ และหากป่วยเป็นมาลาเรียแล้ว ต้องกินยาให้ครบ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝน มีฝนตกชุกทุกวัน ทำให้เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย ซึ่งมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ยุงชนิดนี้วางไข่เพาะพันธุ์อยู่ตามลำธารในป่าเขา โดยจากข้อมูลของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 28 มิถุนายน 2551 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 12,188 ราย จาก 76 จังหวัด เสียชีวิต 26 ราย จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ยะลา 2,364 ราย รองลงมา ตาก 2,044 ราย ระนอง 789 ราย ชุมพร 693 ราย และกาญจนบุรี 688 ราย ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วย ได้แก่ หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่นและมหาสารคาม
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรคมาลาเรีย ปี 2550 ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมด 33,178 ราย เสียชีวิต 97 ราย พบว่าช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกที่สุด จะพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียสูงกว่าเดือนอื่นๆ โดยเดือนพฤษภาคม มีผู้ป่วย 6,176 ราย เดือนมิถุนายน มี 6,169 ราย และค่อยๆ ลดลงเหลือไม่ถึง 2,000 รายในเดือนธันวาคม ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย หรือเดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรีย เช่น เข้าไปเก็บของป่า ท่องเที่ยวในป่า จึงควรระมัดระวังและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงก้นปล่องกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในมุ้ง หรือใช้โลชั่นทากันยุง ขณะนี้ยังไม่มียากินป้องกันโรคนี้ล่วงหน้า ทั้งนี้ หากมีไข้ หนาวสั่น มีประวัติอยู่ในพื้นที่ระบาดของโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติให้ละเอียด เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียและสามารถให้การรักษาอย่างถูกต้อง
ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อมาลาเรียมีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ ฟัลซิปารั่ม (P.falciparum) ไวแว็กซ์ (P.vivax) โอวาเล่ (P.ovale) และมาลาริอี (P.malariae) แต่ที่พบในไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 50 เป็นเชื้อฟัลซิปารั่ม รองลงมาเป็น ไวแว็กซ์ ส่วน โอวาเล่ พบน้อยมากประมาณปีละ 1-2 ราย อาการของไข้มาลาเรียจะปรากฏหลังได้รับเชื้อประมาณ 10-14 วัน โดยมีลักษณะเฉพาะของไข้ คือ มีไข้สูงและหนาวสั่น ชาวบ้านจึงมักเรียกว่าไข้จับสั่น การเป็นไข้จะขึ้นกับชนิดของเชื้อ โดยหากเป็นเชื้อฟัลซิปารัม จะจับไข้ทุก 36-48 ชั่วโมง ส่วนมากจับไข้ทุกวัน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เชื้อไวแวกซ์ และโอวาเล่ จะจับไข้ทุก 48 ชั่วโมง หรือจับวันเว้นวัน ส่วนมาลาริอี จับไข้ทุก 72 ชั่วโมง หรือวันเว้นสองวัน
การรักษาโรคมาลาเรียมีความแตกต่างกันในเชื้อแต่ละชนิด จึงต้องมีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อก่อนให้ยาทุกครั้ง ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรซื้อยารักษามาลาเรียกินเอง และเมื่อได้รับยารักษาโรคมาลาเรียไปแล้ว ต้องกินยาให้ครบ ห้ามหยุดยาก่อนเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาได้ นายแพทย์ธวัช กล่าวในตอนท้าย
************************************** 6 กรกฎาคม 2551
View 7
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ