สธ.แนะอาหารกระป๋อง ช่วยน้ำท่วม หากบุบบู้บี้ กระป๋องปูดบวม มีสนิม ต้องทิ้ง กินแล้วอันตราย โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะผู้บริจาคอาหารกระป๋องช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขอให้ดูวันหมดอายุ อย่าเห็นแก่ของถูกหรือราคาลดต่ำผิดปกติ หากพบกระป๋องบุบบู้บี้ ปูดบวม ขึ้นสนิม ต้องทิ้งอย่าเสียดาย เนื่องจากมีเชื้อโรคอยู่ในกระป๋อง ที่ก่อพิษรุนแรงต่อลำไส้ ระบบประสาท ถึงขั้นเสียชีวิตได้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ความต้องการในระยะเร่งด่วนขณะนี้จะเป็นเรื่องอาหารน้ำสะอาด ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค โดยเฉพาะเรื่องอาหารต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย จากการประเมินทางการแพทย์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 10,015 ราย หรือประมาณร้อยละ 2 ของผู้รับบริการทั้งหมด 500,000 กว่าราย ซึ่งเกิดจากเชื้อชนิดไม่รุนแรง ต้นเหตุมาจากการรับประทานอาหารและน้ำไม่สะอาดเข้าไป นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า โรคในระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือโรคอาหารเป็นพิษ (food poisoning) เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารบริจาค ซึ่งมักเป็นอาหารสำเร็จรูปเปิดรับประทานได้เลย ที่นิยมบริจาคในช่วงน้ำท่วมมากที่สุดคือปลากระป๋อง ผักกาดดองกระป๋อง จะต้องเลือกกระป๋องที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบบู้บี้ หรือไม่ปูดบวม ไม่ควรซื้ออาหารกระป๋องที่ลดราคาถูกจนผิดสังเกต เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบภัย เพราะแทนที่จะช่วยเหลือ กลับเป็นการมอบความทุกข์ซ้ำเติมผู้ประสบภัยอีก ทั้งนี้เชื้อโรคที่ชอบอยู่ในอาหารกระป๋องได้แก่ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ( Staphylococcus aureus) เชื้อคลอสตริเดียม เปอร์ฟริงเจน(Clostridium perfringen) และเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เชื้อทั้ง 3 ชนิดนี้ มีความรุนแรง สามารถสร้างพิษ(toxin) ออกมาทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม พิษของมันมีความรุนแรงสูงมากทำให้ถึง แก่ความตายได้อย่างรวดเร็ว แต่พิษของเชื้อดังกล่าวไม่ทนต่อความร้อน ถ้าใช้อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียล นาน 10 นาที ก็ทำลายพิษได้ โดยหากได้รับพิษ จะเริ่มมีอาการหลังรับประทานอาหารเข้าไปนาน 18-36 ชั่วโมง มีอาการอ่อนเพลีย มึนงง ริมฝีปากและลำคอแห้ง อาจพบอาการอาเจียนและท้องเสียได้บ้าง หลังจากนั้นจะมีอาการทางระบบประสาทตาพร่า, ม่านตาขยาย, กลืนและพูดลำบาก หายใจไม่ออก เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึง ขอให้ประชาชนผู้ประสบภัย สังเกตอาหารกระป๋องบริจาค โดยให้ดูฉลากอาหาร วันเดือนปีหมดอายุ ลักษณะกระป๋องที่บรรจุ รวมทั้งฝาและก้นกระป๋อง หากบุบบวม พองหรือโป่ง เป็นสนิม หรือหากลักษณะภายนอกดี แต่ลักษณะของอาหารที่บรรจุภายในมีสี กลิ่น และรสผิดปกติ ต้องทิ้งทันที อย่าเสียดายเป็นอันขาด โดยควรเก็บรักษาอาหารกระป๋องไว้ในที่แห้ง ไม่อับชื้น และไม่ถูกแสงแดด นายแพทย์สุพรรณกล่าว ************************************* 24 ตุลาคม 2549


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ