รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับประทานอาหารทะเลระยอง สร้างความมั่นใจในความปลอดภัย ภายหลังจากเก็บกู้คราบน้ำมันดิบรั่วลงทะเลแล้ว ระบุผลตรวจโลหะหนักและสารเคมีในอาหารทะเลจากทุกแหล่งในระยองไม่เกินค่ามาตรฐาน วางแผนติดตามตรวจทั้งอาหารทะเลและสุขภาพเจ้าหน้าที่เก็บกู้ต่อเนื่อง 2-3 ปี

          วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2565) ที่หาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ และ นายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ร่วมกันแถลงข่าว “อาหารทะเลระยอง ปลอดภัย มั่นใจ กินได้” ภายหลังจากเก็บกู้น้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเล จ.ระยอง โดยนำอาหารทะเลจาก 4 แหล่ง คือ หาดสุชาดา หาดสวนสน หาดแม่รำพึง และปากน้ำระยอง มาปรุงอาหารและรับประทานต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวว่ามีความปลอดภัยสามารถรับประทานได้

          ดร.สาธิตกล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนติดตามแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันได้เรียบร้อย จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก และต้องมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลมาตรฐาน รวมถึงคณะกรรมการติดตามความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องติดตามประเมินความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบต่อธรรมชาติทางทะเล พืชใต้น้ำ สัตว์ทะเล อาชีพประมงพื้นบ้าน ส่วนวันนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนระยองและนักท่องเที่ยวว่า อาหารทะเลระยองมีความปลอดภัย มั่นใจและบริโภคได้ โดยจากการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลแต่ละชนิดจากแหล่งต่างๆ พบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อนที่มีค่าเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่เก็บกู้คราบน้ำมันกว่า 500 คน โดยเก็บเลือดและปัสสาวะมาตรวจก่อนปฏิบัติภารกิจ และจะตรวจหลังจบภารกิจในช่วง 3 เดือน 1 ปี และ 3 ปีต่อไป

          นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุช่วงแรก ได้เก็บตัวอย่าง กุ้ง หอย ปลา ปลาหมึก หลากหลายชนิด จากหลายพื้นที่ เช่น หาดสุชาดา หาดแม่รำพึง สวนสน และตลาดสดบ้านเพ จำนวน 14 ตัวอย่าง ตรวจหาสารโลหะหนักคือ ปรอท แคดเมียม และตะกั่ว ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ชลบุรี ไม่พบเกินค่ามาตรฐาน ส่วนสารปนเปื้อนจากน้ำมัน PAHs ( Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ) ที่อาจก่อมะเร็ง ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ก็ไม่พบเช่นกัน และในการตรวจครั้งที่ 2 จำนวน 17 ตัวอย่าง สารโลหะหนักทั้ง 3 ตัวไม่เกินเกณฑ์ อยู่ระหว่างรอผลตรวจ PAHs ซึ่งจะรู้ผลในอีก 1-2 วันนี้ ได้วางแผนตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงกุมภาพันธ์จะตรวจทุกสัปดาห์ ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม จะตรวจทุก 2 สัปดาห์ และเฝ้าระวังต่อไปอีก 2-3 ปี ขอให้มั่นใจว่าวันนี้อาหารทะเลระยองปลอดภัย

          ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจมาตรฐานตลาดและร้านอาหารต่างๆ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวัตถุดิบปลอดภัย ผู้ปรุงจำหน่ายถูกสุขอนามัย จำหน่ายตามหลักสุขาภิบาล อย่างไรก็ตาม ขอให้รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งซ้ำๆ ต่อเนื่อง เพื่อผลดีต่อสุขภาพ

 ************************************** 5 กุมภาพันธ์ 2565

 

**************************************************

 



   
   


View 180    05/02/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ