กระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของ ครม. จัดงบ 157.6 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 32 จังหวัด โดยเป็นงบช่วยเหลือและฟื้นฟูด้านสาธารณสุขผู้ประสบภัย 125.9 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังน้ำท่วมและซ่อมแซมสถานบริการที่เสียหาย 31.7 ล้านบาท เผยขณะนี้ยอดผู้เจ็บป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมกว่าครึ่งล้านแล้ว ด้านโรงพยาบาลอ่างทองจัดซื้อเรือกู้ชีพฉุกเฉิน 2 ลำ ออกรับ-ส่งผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เป็นครั้งแรกของประเทศ ใช้งบกว่า 100,000 บาท เพิ่มความปลอดภัยผู้ป่วย
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 32 จังหวัดว่า เมื่อ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 157.6 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยขณะนี้หน่วยแพทย์ออกให้บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยทุกวัน ยอดเพิ่มขึ้นวันละเกือบ 20,000 ราย มียอดสะสมทั้งหมด 526,159 ราย มากที่สุดเป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคัน พบร้อยละ 59 ซึ่งคาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำท่วมขังนาน กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องจัดบริการอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทั่วถึง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ โดยงบดังกล่าวจะใช้ช่วยเหลือและฟื้นฟูด้านสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 125.9 ล้านบาท และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังน้ำท่วม รวมทั้งซ่อมแซมสถานบริการที่เสียหายอีก 31.7 ล้านบาท
ด้านนายแพทย์ถวัลย์ พบลาภ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพที่พบมากขึ้นคือเรื่องของสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน ปัญหาจะรุนแรงกว่าพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วม โรงพยาบาลอ่างทองจึงอบรมความรู้ในการบรรเทาความเครียดเบื้องต้นให้ อสม. ในเขตอำเภอเมืองอ่างทอง ซึ่งมีประมาณ 500 คน จะดูแลคนละ 10 หลังคาเรือน รวมทั้งตัวแทนผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อให้สามารถประเมินภาวะเครียด เป็นที่พึ่งของผู้ประสบภัยที่มีปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันเวลา โดยจะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งมีประชากรประมาณ 300,000 คน จนถึงวันนี้มีประชาชนที่ประสบภัยซึ่งมีร้อยละ 90 ของจังหวัด เจ็บป่วยแล้ว 44,140 ราย
ทางด้านนายแพทย์นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอ่างทอง กล่าวว่า โรงพยาบาลอ่างทองได้จัดซื้อเรือกู้ชีพฉุกเฉิน เป็นเรือท้องแบนทำด้วยไฟเบอร์ มีความแข็งแรงทนทาน ขนาดกว้าง 1.45 เมตร ยาว 4 เมตร บรรทุกคนได้ 8-10 คน จำนวน 2 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ ใช้งบประมาณ 100,000 กว่าบาท เพื่อใช้ประจำรถพยาบาลในการให้บริการรับ-ส่ง ช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการหนักถึงบ้าน สามารถนำเครื่องมือแพทย์และเตียงผู้ป่วยลงเรือได้เลย นับเป็นเรือประยุกต์ลำแรกของโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วย เพราะเรือที่ชาวบ้านหรือหน่วยกู้ภัยใช้มีขนาดเล็ก ไม่สามารถขนเตียงและเครื่องมือแพทย์ฉุกเฉินลงได้ โดยเรือจะมีล้อลาก สามารถพ่วงติดกับรถพยาบาลฉุกเฉินหรือรถที่มีขนาดสูงวิ่งลุยน้ำท่วมได้ ขณะเดียวกัน ได้จัดส่งหน่วยจิตแพทย์เคลื่อนที่พร้อมเวชภัณฑ์ ออกให้บริการทุกวันพุธและศุกร์ ที่ผ่านมาพบผู้ประสบภัยมีความเครียดประมาณวันละ 20 ราย เป็นผู้ป่วยเครียดจากน้ำท่วมร้อยละ 70-80 แต่อาการไม่รุนแรง ต้องใช้เวลาปรับตัว ขึ้นอยู่กับบุคคลและความสูญเสีย และได้เปิดบริการสายด่วน 1669 และ 0-3561-5111 ต่อ 154 เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยต่อสายตรงคุยกับจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา มีเจ้าหน้าที่บริการวันละ 4 คน ขณะนี้เปิดบริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ตุลาคม6/8 *********************************** 25 ตุลาคม 2549
View 12
25/10/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ