องค์การอนามัยโลก ยอมรับศักยภาพระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคของไทย สามารถรับมือกับปัญหาโรคติดต่อสำคัญ ทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ อาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้สมองอักเสบ ไข้หวัด และโรคมือ เท้า ปาก จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและตอบโต้โรคติดต่อที่สำคัญขึ้นในประเทศไทย ดูแลประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค บ่ายวันนี้ (27 ตุลาคม 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมลงนามข้อตกลงในการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและตอบโต้โรคติดต่อที่สำคัญ (Communicable Disease Surveillance and Response Sub-unit) โดยมีนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นักวิชาการจากองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขของไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับใหม่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการเฝ้าระวัง ควบคุม และสกัดกั้นไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญ อาทิ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจากการติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 โรคไข้สมองอักเสบ และอหิวาตกโรค เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีผลงานโดดเด่นอย่างมาก ทั้งการควบคุมโรคและระบบการเฝ้าระวังที่มีมาตรฐาน และศักยภาพสูง โดยเฉพาะโครงสร้างของทีมเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรับมือการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน โรคไข้หวัดนก รวมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของการติดเชื้อในพื้นที่ที่เกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่ภาคใต้ การควบคุมโรคที่มากับภัย น้ำท่วมซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ ทำให้องค์การอนามัยโลกเลือกประเทศไทยเป็นศูนย์ความร่วมมือในการเฝ้าระวังและตอบโต้โรคติดต่อสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ศูนย์เฝ้าระวังและตอบโต้โรคติดต่อที่สำคัญ อยู่ที่อาคาร 3 ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลักคือการควบคุมและสกัดกั้นไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญ ในประเทศเพื่อนบ้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะส่งทีมผู้เชียวชาญด้านระบาดวิทยา มาทำงานร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการของไทยอย่างใกล้ชิด ทำให้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน จะสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคได้ทันที ไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกาหรือยุโรป มาศึกษา วินิจฉัย ให้คำแนะนำหรือฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ตุลาคม *********************************************** 27ตุลาคม 2549


   
   


View 10    27/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ