ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับสถานพยาบาลเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม หลังจะมีพายุเข้าอีกลูก ให้จัดทำแผนสำรองการบริการเพื่อดูแลประชาชนได้ต่อเนื่อง จัดงบกลางช่วยเหลือฉุกเฉิน สำรองยา เวชภัณฑ์ จัดทำถุงยังชีพ ห่วงฝนตกน้ำท่วมทำให้ยานพาหนะ-ทรัพย์สินเสียหาย ประชาชนอาจเกิดภาวะเครียดระยะสั้น แนะเก็บของขึ้นที่สูง ใช้สติแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยลดความวิตกกังวล

      วันนี้ (13 กันยายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 18 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 16 แห่ง ยังปิดให้บริการ 2 แห่ง แม้ขณะนี้พายุหมาอ๊อนผ่านไปแล้ว แต่จะมีพายุเข้ามาอีกลูก จากการประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมพบว่า ภาคเหนือมี 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด และภาคกลาง 4 จังหวัด ได้ประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการโรงพยาบาล กำชับให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ จัดทำแผนประคองกิจการ (BCP) เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยล้างไต หรือผู้ป่วยที่ต้องให้เคมีบำบัด ซึ่งแต่ละพื้นที่มีการวางแผน BCP ของตนเองไว้แล้ว

           นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลทั้งร่างกายและจิตใจประชาชนรวมกว่า 85 ทีม ให้บริการแล้ว 6 พันกว่าคน รวมถึงจัดเตรียมงบกลาง 10 ล้านบาท เพื่อดูแลผลกระทบฉุกเฉินช่วงน้ำท่วม มีการสำรองยา เวชภัณฑ์ และจัดถุงยังชีพรองรับ นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดยังมีงบอีกประมาณ 5-10 ล้านบาท เพื่อดูแลในช่วงฉุกเฉินด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์น้ำจะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 เนื่องจากเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก ทั้งนี้ ผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่จะเป็นทรัพย์สินเสียหาย เช่น ยานพาหนะ ข้าวของในบ้าน เป็นต้น อาจทำให้ประชาชนเกิดความเครียดในระยะสั้นได้ แต่คนไทยสามารถปรับตัวได้ดีจึงไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นกระทบต่อสุขภาพจิตระยะยาว เหมือนปี 2554 ที่น้ำท่วมนาน 30-45 วัน เมื่อติดตามต่อเนื่อง 3 ปี พบมีภาวะเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ถึงประมาณ 10%

             “ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตน้อย คือ การได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แนะนำประชาชนให้เตรียมเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยา เวชภัณฑ์ และสิ่งจำเป็นให้พร้อม ส่วนผู้ที่ต้องเดินทางไปทำงาน ขอให้วางแผนการเดินทาง เพื่อลดความวิตกกังวลจากน้ำท่วม ทั้งนี้ หากมีการบริหารจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็วก็จะช่วยลดความวิตกกังวลไปด้วย ที่สำคัญ ขอให้ใช้สติในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมา เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง เป็นต้น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

********************************** 13 กันยายน 2565



   
   


View 1495    13/09/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ