รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 2 เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์แก่บุคลากรวิชาชีพต่างๆ เพื่อสามารถส่งต่อข้อมูลสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ในการเข้าถึงบริการกัญชาทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและปลอดภัย

          วันนี้ (22 กันยายน 2565) ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 2 และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สถานการณ์กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย ทางเลือกในอนาคต โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ อสม. และประชาชนเข้าร่วมงาน

          นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายหลักในการปลดล็อคกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดคือ 1.เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมด้านวิชาการ ทั้งกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ จัดอบรม และจัดสอบขึ้นทะเบียนผู้สั่งใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ 2.ผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน เปิดโอกาสให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนขออนุญาตปลูกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ทั้งระดับครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน และระดับประเทศ เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และ 3.เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญที่สุดคือให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นทางเลือกในการรักษา ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และเป็นส่วนผสมในยาแผนไทย ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ ซึ่งมีกฎหมายที่จะช่วยควบคุมกำกับทั้ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข ประกาศกรมอนามัย และประกาศกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อป้องกันการนำมาใช้ในทางที่ผิด

          ในส่วนข้อมูลการสั่งจ่ายยากัญชาทางการแพทย์ ของสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้สรุปภาพรวม พบว่า โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรมสุขภาพจิต สังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสถานพยาบาลเอกชน ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562- 2565 มีการสั่งจ่ายยากัญชาให้กับผู้ป่วยไปแล้ว 143,874 ราย หรือจำนวน 453,818 ครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

          สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 ได้ส่งเสริมให้ประชาชน วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ พัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชากัญชงเชิงรุก เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชน ต่อยอดทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และเครื่องสำอาง ซึ่งได้รับเลขสาระบบอาหารหรือเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอาง ตามที่ อย.กำหนด เช่น สบู่ผสมเส้นใยกัญชง จ.ตาก, ทองม้วนกัญชา ซอสปรุงรสผัดไทยผสมกัญชา จ.สุโขทัย, สบู่ แชมพูและครีมอาบน้ำผสมกัญชา จ.เพชรบูรณ์, เครื่องตุ๋น ผงปรุงรสผสมกัญชา เครื่องดื่มผสมกัญชา โลชั่นและเซรั่มผสมน้ำมันเมล็ดกัญชง จ.พิษณุโลก เป็นต้น

          ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ มีการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์โดยพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ที่มีการดำเนินงานอย่างครอบคลุม คือ มีแหล่งปลูกกัญชาทุกจังหวัด มีโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพร (WHO-GMP) 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก และโรงพยาบาลพิชัย จ.อุตรดิตถ์  ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมเพื่อใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ เช่น ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทำลายพระสุเมรุ และน้ำมันกัญชา อาจารย์เดชา เป็นต้น รวมถึงมีการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในโรงพยาบาลของเขตสุขภาพที่ 2 ครบทั้ง 47 แห่ง โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาแก่บุคลากรทางการแพทย์ในวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ แพทย์แผนไทย และส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แก่ประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันอย่างทั่วถึงและปลอดภัย

 ****************************************** 22 กันยายน 2565

****************************************

 



   
   


View 575    22/09/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ