ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมชี้แจงแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เผยวัคซีนจะมาถึงวันที่ 7 ตุลาคม หลังตรวจรับรองรุ่นการผลิตจะกระจายและคิกออฟฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 12 ตุลาคมนี้ มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โดยมีผู้ปกครองสมัครใจให้เด็กฉีดแล้วจํานวนมาก ย้ำติดตามอาการหลังฉีด 30 นาที และติดตามต่อ 1 เดือน

     วันนี้ (6 ตุลาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โรคโควิด 19 ได้ปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การควบคุมโรคประสบความสำเร็จ คือ การฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งปัจจุบันฉีดได้กว่า 143 ล้านโดส ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน และปัจจุบันได้ขยายการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ซึ่งจะคิกออฟวันที่ 12 ตุลาคมนี้ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี จึงมีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการให้บริการวัคซีนเด็กกลุ่มนี้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการอย่างปลอดภัย สำหรับกลุ่มอื่นๆ พบว่าเมื่อโรคลดความรุนแรงลง ทำให้ความต้องการฉีดวัคซีนลดลงตามไปด้วย ดังนั้น ย้ำว่าเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็น ขอให้ฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 4 เดือนจากเข็มล่าสุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับถึงเข็มที่ 4 โดยขอให้พื้นที่ช่วยกันรณรงค์ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2565

      ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยวริวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้มสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี จะมาถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะจัดส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อให้กระจายต่อในพื้นที่ตามจำนวนที่มีการแจ้งความประสงค์ และเริ่มคิกออฟพร้อมกัน วันที่ 12 ตุลาคมนี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ปกครองสมัครใจให้เด็กรับวัคซีนแล้วเป็นจํานวนมาก โดยสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนพื้นฐานชนิดอื่นได้

      นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันเด็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี เป็นกลุ่มเดียวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งช่วงการระบาดของโอมิครอนพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีการป่วยและอัตราเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า สำหรับการซักซ้อมวันนี้ได้เน้นย้ำให้ฉีดวัคซีนตามแนวทาง โดยเด็กเล็กจะใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลง คือขนาด 3 ไมโครกรัม จำนวน 0.2 มิลลิลิตร ฉีด 3 เข็ม เข็มสองห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มสามห่างเข็มสอง 2 เดือน หลังฉีดให้สังเกตอาการ 30 นาที และติดตามต่อจนครบ 1 เดือน โดยให้จัดจุดบริการแยกจากกลุ่มวัยอื่น เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้วัคซีน สำหรับข้อกังวลเรื่องผลข้างเคียง สหรัฐอเมริกามีการฉีดและติดตามล้านกว่าโดส พบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงเสียชีวิต ถือว่าปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กและยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MIS-C จากการติดเชื้อด้วย ทั้งนี้ ขอย้ำว่าหลังจากนี้มีการผ่อนคลายต่างๆ จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แต่วัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหนักได้ง่าย เมื่อเด็กไม่ป่วย พ่อแม่ผู้สูงอายุในบ้านจะลดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

************************************** 6 ตุลาคม 2565

**************************************



   
   


View 1178    06/10/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ