คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการถ่ายโอน รพ.สต. กำชับ อบจ.จัดหาบุคลากรสาขาวิชาชีพและทรัพยากร เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนต่อเนื่องหลังการถ่ายโอน โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการช่วยเหลือช่วงเปลี่ยนผ่าน จัดทันตแพทย์ดูแลการทำงานของทันตาภิบาล พร้อมเสนอ 6 ประเด็นด้านวิชาการและติดตามประเมินผล

           วันนี้ (7 ธันวาคม 2565) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนจังหวัด ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการถ่ายโอนฯ โดยล่าสุด ดำเนินการแล้ว 40 จังหวัด 2,932 แห่ง เหลืออีก 9 จังหวัด รวม 331 แห่ง ซึ่งหาก อบจ.มีความพร้อมจะสามารถลงนามได้ทันที ส่วนรพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว พบปัญหาบางแห่งต้องหยุดให้บริการทันตกรรม เนื่องจาก อบจ.ไม่ได้ประสานเรื่องการจัดทันตแพทย์ควบคุมการปฏิบัติงานของทันตาภิบาลใน รพ.สต. ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.วิชาชีพ

                 นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ สอน. และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนฯ ได้รับบริการส่งเสริมป้องกันทางสุขภาพช่องปาก และการรักษาทางทันตกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้ทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.แจ้งโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดสนับสนุนทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัสดุและเครื่องมือ เพื่อจัดบริการส่งเสริมป้องกันทางสุขภาพช่องปาก และการรักษาทางทันตกรรม ใน สอน.และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนฯ ตามที่ อบจ.ขอความอนุเคราะห์ในระยะเปลี่ยนผ่าน และ 2.จังหวัดที่ไม่มีทันตแพทย์ปฏิบัติงานในสังกัด อบจ. ให้แจ้ง อบจ. หรือคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ เร่งจัดจ้างหรือจัดหาผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม มาทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพของทันตาภิบาลใน สอน.และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพ

          “หลังการถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว อบจ.ต้องเตรียมพร้อมทุกระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดหากำลังคนทั้งบุคลากรแพทย์ พยาบาล และผู้ควบคุมการประกอบวิชาชีพ เตรียมจัดหาและกระจายทรัพยากร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยใช้กลไกในพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขยินดีช่วยสนับสนุนดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน” นพ.ณรงค์กล่าว

              นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) และประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการถ่ายโอนฯ ด้านวิชาการและติดตามประเมินผล ได้เสนอความเห็นแผนการดำเนินงานด้านวิชาการและติดตามประเมินผลใน 6 ประเด็นได้แก่  1.เร่งออกแบบกลไกความพร้อมของระบบสั่งการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน 2.เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบทั้งหมดของ อบจ. หรือปรับแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ 3.กระทรวงสาธารณสุขมีการมอบอำนาจเป็นระยะจนถึงระดับ รพ.สต. และผู้ปฏิบัติงาน แต่ อบจ.ยังไม่มีฐานอำนาจมารองรับ 4.ต้องมีการบริหารจัดการ ระบบแผนงาน ค่าตอบแทน งบประมาณ สร้างความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการต่างๆ 5.การจัดการคุณภาพของทรัพยากรต่างๆ ทั้งบุคลากร วัสดุสิ่งของ สร้างความเข้าใจในแผนงานงบประมาณเพื่อวางแผนระยะยาว และ 6.สถานที่บางแห่งอาจยังไม่พร้อมทั้งบุคลากรหรือทรัพยากร ในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจยังไม่กระทบกับประชาชน แต่ในอนาคตข้างหน้าอาจจะเกิดผลกระทบ เช่น การเข้าถึงบริการไม่ได้ จึงควรวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาคนในพื้นที่ สร้างกลไกการมีส่วนร่วม เป็นต้น

                ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาสุขซึ่งเป็นรองอนุกรรมการถ่ายโอน (ชุดนายเลอพงศ์) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การช่วยเหลือในระบบบริการต่างๆ ที่ได้ถ่ายโอนไป ซึ่งจะทำได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างนี้ อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจไปต้องเร่งจัดหาบุคลากรวิชาชีพต่างๆ ที่ต้องให้การดูแลในระบบบริการให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ และวิชาชีพต่างๆ ไม่ทำงานคลาดเคลื่อน อันจะเกิดความเสียหายได้

********************************** 7 ธันวาคม 2565

*****************************



   
   


View 1431    07/12/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ