วานนี้ (5 มกราคม 2566) ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนกลไกพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างความรอบรู้เท่าทันด้านสุขภาพสู่ศตวรรษที่ 21 ระดับเขตสุขภาพที่ 10 “เด็กวัยเรียนเขตสุขภาพที่ 10 สายตาดี มีศักยภาพในการเรียนรู้ ควบคู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล” และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โดยมีนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์  นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานมูลนิธิประชาสังคม จังหวัดอุบลราชธานี นางมลุลี แสนใจ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 อุบลราชธานี นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 10 ร่วมงาน

        นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียน ในศตวรรษที่ 21 ร่วมกับ 12 กระทรวง เพื่อพัฒนาเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เก่ง ดี มีทักษะ แข็งแรง โดยขับเคลื่อน 4H ประกอบด้วย Head คือ เก่ง คิดวิเคราะห์ สติปัญญาดี มีสมรรถนะสูง โดยยกระดับคุณภาพการศึกษา หรือการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ และการสร้างสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ Heart คือ ดี มีคุณธรรม จริยธรรม จิตใจดี มีวินัย จิตอาสา โดยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และการสร้างวินัย จิตอาสา และความมั่นคงต่อบทบาทหน้าที่ในการดำรงชีวิตต่อสังคม Health คือ แข็งแรง รอบรู้ ปลอดภัย สุขภาพกายจิตดี โดยยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับบุคคลสู่การมีพฤติกรรมสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน และการเสริมสมรรถนะสุขภาพกายและสุขภาพจิต ให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม และ Hand คือ มีทักษะ คิด วิเคราะห์ สติปัญญาดี มีสมรรถนะสูง โดยยกระดับการพัฒนาทักษะอาชีพตามความสามารถ และความต้องการอย่างมืออาชีพ และการเสริมสร้างทักษะชีวิต การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม

        “ทั้งนี้ การพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพตามมาตรฐานระดับสากล (Global Standards for Health Promoting School: GSHPS) เป็นการฟื้นฟูโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ และบริการอนามัยโรงเรียน (school health program) เป็นประเด็นสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ภาวะทุพโภชนาการ ปัญหา learning loss ปัญหาสายตา การได้รับสัมผัสมลพิษจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก หากไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีจะส่งผลต่อศักยภาพและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

         ทางด้าน นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กล่าวว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์สุขภาพของเด็กวัยเรียน พื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเด็กวัยเรียน ทั้งมิติด้านสุขภาพ และมิติด้านการเรียนรู้ ซึ่งข้อมูลปีงบประมาณ 2565 พบว่า เด็กวัยเรียนมีปัญหาเรื่อง ทุพโภชนาการ ไม่สมส่วน เริ่มอ้วนและเตี้ย โดยเฉพาะภาวะเตี้ย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 9.17 (เป้าหมาย<5) สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่า คุณภาพด้านสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน การมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนน้อยลง และการจัดบริการอนามัยโรงเรียนมีความครอบคลุมต่ำ  และจากปัญหาของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 ยังพบว่ายังไม่สามารถคัดกรองสายตาเด็กวัยเรียนได้อย่างครอบคลุม ซึ่งการคัดกรองสายตาเป็นบริการหนึ่งของอนามัยโรงเรียน และจากข้อมูลปีที่ผ่านมา เด็กเข้าถึงบริการต่ำมาก ได้คัดกรองได้เพียงร้อยละ 5.46 หรือประมาณ 1,600 กว่าคน จากเด็กวัยเรียนทั้งหมด 3 แสนกว่าคน ส่งผลให้เด็กเสียโอกาสทางการเรียนรู้หากเขามีสายตาผิดปกติซึ่งศูนย์อนามัยที่ 10 ได้ลงพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุของการจัดบริการที่ต่ำ พบว่า ยังขาดการบูรณาการความร่วมมือดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดบริการ และ ยังขาดระบบกลไกสนับสนุนการจัดบริการให้มีความต่อเนื่องยั่งยืน

          “ทั้งนี้ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อน เด็กวัยเรียนเขตสุขภาพที่ 10 สายตาดี มีศักยภาพในการเรียนรู้ ควบคู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล ซึ่งมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีโรงเรียนในสังกัด ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เข้าร่วม MOU รวมจำนวนทั้งสิ้น 35 หน่วยงาน  นอกจากนี้ ในงานยังมีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การมอบรางวัลเกียรติยศครูผู้สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมของโรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ และ การเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนโครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชจังหวัดอุบลราชธานี”  ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กล่าว

***

 กรมอนามัย / 6 มกราคม 2566



   
   


View 677    06/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ