วันนี้ (10 มกราคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีข้อกังวลของภาคเครือข่าย และภาคประชาสังคม เกี่ยวกับประเด็นการจ่ายยาเพร็พ (PrEP: ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี) และ ยาเป๊ป (PEP: ยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อเอชไอวี) ตามประเด็นหนังสือชี้แจงแนวทางการจัดบริการ PrEP โดยความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้นโยบายการยุติปัญหาเอดส์ ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 นั้น กรมควบคุมโรค ได้พิจารณาแนวทางดังกล่าว เห็นว่า การจัดบริการ PrEP สามารถดำเนินการได้ที่องค์กรภาคประชาสังคมที่มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถจากกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินงานภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และเจ้าหน้าที่  ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขฯ ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 มิถุนายน 2562 ซึ่งช่วยให้ผู้รับบริการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องไปที่สถานพยาบาล แต่อาจมีความไม่เข้าใจของหน่วยงานบางพื้นที่ ซึ่งจะมีการนัดมาพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

          ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค สนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงอย่างมาก แต่ความครอบคลุมในกลุ่มประชากรหลักที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อยังไม่เข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการกินยา PrEP ซึ่งเป็นยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี จะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรภาคประชาสังคม และสถานพยาบาลภาครัฐในการร่วมจัดบริการ

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากประเด็นปัญหาเรื่องงบประมาณในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ที่นอกสิทธิบัตรทอง (สิทธิประกันสังคม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ) ซึ่ง สปสช. กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้มีความชัดเจนทางกฎหมายในการเบิกจ่ายงบประมาณ ในระหว่างนี้ ผู้รับบริการสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิเดิม นั้น กรมควบคุมโรคจะสนับสนุนถุงยางอนามัย และยา PrEP ให้กับผู้มารับบริการที่มารับบริการที่องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้มีการจัดบริการได้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และได้เตรียมจัดประชุมชี้แจงกับองค์กรภาคประชาสังคมและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจ และประสานความร่วมมือในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งประสานงานกับโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อขอให้รับเป็นคู่ร่วมจัดบริการยา PrEP กับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้สะดวก และครอบคลุมมากขึ้น

          ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ ด้วยองค์กรภาคประชาสังคมเป็นเครือข่ายเพื่อนของประชากรกลุ่มเป้าหมาย ที่สามารถช่วยให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำ และร่วมจัดบริการทั้งในรูปแบบบริการเคลื่อนที่เชิงรุก หรือบริการที่ศูนย์สุขภาพขององค์กรภาคประชาสังคม ช่วยให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าสู่บริการป้องกันและดูแลรักษาเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆ ในทุกคนที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี เพื่อลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายลงให้ต่ำที่สุด อันจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้ตามปกติ ลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีคุณภาพชีวิตและอายุขัยเทียบเคียงได้กับผู้ที่ไม่มีเชื้อ และนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ตามเจตนารมณ์ของประเทศ

******************************

ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 10 มกราคม 2566



   
   


View 613    10/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ