วันนี้ (18 มกราคม 2566) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการจัดบริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) พร้อมด้วยนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก และแพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรคและผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีผู้แทนจากโรงพยาบาล และองค์กรภาคประชาสังคม ที่ร่วมจัดบริการเพร็พ กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ พร้อมกับเครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ เข้าร่วมประชุม

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า จากที่ผ่านมากรณีภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคม มีความกังวลเรื่องการจัดบริการเพร็พที่นำจ่ายโดยอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ มอบหมายให้ดำเนินงานในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม และเทคนิคการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคม เป็นส่วนสำคัญในการร่วมจัดบริการเพร็พ รวมถึงบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และดูแลติดตามผู้รับบริการ ช่วยให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการและปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวี นั้น กรมควบคุมโรค ได้เร่งหารือและเตรียมรูปแบบร่วมจัดบริการเพร็พ โดยล่าสุด ได้ให้หน่วยงานของกรมควบคุมโรค คือ ศูนย์การแพทย์บางรักด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสาทร และสถาบัน บำราศนราดูร นนทบุรี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร่วมจัดบริการและดูแลกำกับคุณภาพการจัดบริการของสวิงคลินิก (SWING) และคลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้งรามคำแหง พร้อมเปิดให้บริการร่วมได้ ภายใน 1 สัปดาห์

          นอกจากนั้น ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลและองค์กรภาคประชาสังคม ในพื้นที่ต่างจังหวัด กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจในการจัดบริการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และกล่าวขอบคุณองค์กรภาคประชาสังคมอีกกว่า 400 แห่ง รวมถึงสถานพยาบาลทั่วประเทศ ที่ร่วมแรงร่วมใจจัดบริการและนำผู้รับบริการจากชุมชน เข้าสู่บริการตรวจ บริการป้องกันและดูแลรักษาเอชไอวี ตลอดจนโรคเกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี ในระบบบริการสุขภาพ อาทิ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบบี และ ซี โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจัดบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และการดูแลสุขภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

          ด้านนายจำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และนายธนชัย ไชยสาลี ผู้อำนวยการสำนักระบบบริการสุขภาพสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการจัดบริการตั้งแต่ การค้นหากลุ่มเป้าหมายให้ความรู้ ให้คำแนะนำเพื่อการป้องกัน และส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการทั้งด้านการป้องกันและการดูแลรักษา เช่น การสนับสนุนถุงยางอนามัย ยาเพร็พ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้กล่าวขอบคุณกรมควบคุมโรคที่ส่งเสริมการจัดบริการโดยใช้ระบบ Telemedicine เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้รับบริการ แพทย์ และเภสัชกร ในการวินิจฉัยและสั่งจ่ายยา อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมสามารถไปรับยา และเก็บยาเพื่อรอส่งมอบให้กับผู้รับบริการได้ทันที ทำให้ผู้รับบริการได้รับยาเพร็พภายในวันเดียวกัน รวมทั้งการกำกับติดตามการกินยาของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า กลไกการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม มีส่วนช่วยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้เข้าถึงการจัดบริการเพร็พได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทย สามารถยุติปัญหาเอดส์ในปี 2573

 

**************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 18 มกราคม 2566



   
   


View 629    19/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ