กรมอนามัยแนะสุขอนามัยสำหรับ ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ให้ถูกใจเหล่าทาส
- กรมอนามัย
- 25 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (19 มกราคม 2566) ที่ศูนย์ประชุมสาเกตฮอลล์ จังหวัดร้อยเอ็ด นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทวนสอบเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในเขตสุขภาพที่ 7 จังหวัดกาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด” โดยมี นางสาวพรทิพย์ ลัภนะกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น นายยุทธนา บางม่วง รองผู้อำนวยการสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ ร่วมพิธี
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา หรือ กลูโคมิเตอร์ เป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดพกพา สำหรับตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วหรือจากแหล่งเลือดอื่นที่เหมาะสม ผลของค่าน้ำตาลกลูโคสจะแสดงบนหน้าจอของเครื่องวัด ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีการใช้งานเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา เพื่อการตรวจคัดกรองและติดตามผลการรักษาโรคเบาหวานเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสที่ผลการตรวจจะมีความผิดพลาด ซึ่งอาจเกิดจากเครื่องมือ
ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ จึงได้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย จัดการอบรมและถ่ายทอดมาตรฐานวิธีการทวนสอบเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพาให้กับพยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ที่รับผิดชอบงานโรคไม่ติดต่อจากโรงพยาบาลแม่ข่าย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กองสาธารณสุของค์การบริหารส่วนจังหวัด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตสุขภาพที่ 7 จังหวัดกาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด จำนวน 427 แห่ง เพื่อให้มีความรู้และทักษะการทวนสอบเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพาด้วยตนเอง ก่อนนำไปใช้งาน ทำให้ผลการตรวจวัดมีความถูกต้องแม่นยำ
นายแพทย์ปิยะ กล่าวต่ออีกว่า การอบรมครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการทวนสอบเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา การควบคุมคุณภาพและการประกันคุณภาพการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา รวมทั้งมีการฝึกปฏิบัติการทวนสอบเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา ตั้งแต่ขั้นตอนประเมินคุณภาพเบื้องต้นของแต่ละเครื่องกับแผ่นตรวจด้วยน้ำยาควบคุมคุณภาพ การประเมินความเที่ยงและความแม่นของเครื่องแต่ละเครื่อง กับแผ่นตรวจด้วยวัสดุอ้างอิงน้ำตาลกลูโคสในตัวอย่างเลือดความเข้มข้น 3 ระดับ (Low Medium High) การอ่านผลและบันทึกผลการทวนสอบเครื่อง พร้อมกันนี้ได้มอบคู่มือมาตรฐานวิธีการทวนสอบเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา สำหรับผู้เข้าอบรม เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับนำไปประเมินประสิทธิภาพความเที่ยง และความแม่นยำของเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพาด้วยตนเอง
“กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมุ่งเน้นในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของการดูแลสุขภาพชุมชนสู่โรงพยาบาล ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน” นายแพทย์ปิยะ กล่าว
************** 19 มกราคม 2566