กรมอนามัยแนะสุขอนามัยสำหรับ ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ให้ถูกใจเหล่าทาส
- กรมอนามัย
- 26 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะแนวทางป้องกันตนเอง จากฝุ่นละออง PM 2.5 ฝุ่นจิ๋ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน ถือได้ว่าเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เพราะ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ล่องลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือเป็นอาทิตย์รวมทั้งกระจายได้ไปไกลถึง 100 ไมล์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มาก อาจส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพ ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือดได้
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้ฝุ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสะสมทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น สำหรับผู้ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง
ดังนั้นเราควรป้องกันตนเองจากฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ด้วยการสวมหน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่น หากไม่มีให้สวมหน้ากากอนามัย โดยต้องใส่ให้ถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง และต้องแนบสนิทกับใบหน้า หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้า การจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน และหมั่นตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพปกติไม่ก่อควันดำ อีกทั้งหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และที่สำคัญควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านมลพิษทางอากาศเป็นประจำ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง
*********************************************
#PM25 #สถาบันโรคทรวงอก #กรมการแพทย์
-ขอขอบคุณ-
19 มกราคม 2566