กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลจากอนามัยโพล พบ ประชาชนไม่จุดธูปและไม่เผาวัสดุใดๆ ร้อยละ 42.75  แต่ยังพบการจุดธูป เทียน ร้อยละ 26.44 และเผากระดาษเงิน กระดาษทอง หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อไหว้บรรพบุรุษ ร้อยละ 19.26 แนะวิธีการลดควัน ลดฝุ่น ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญในการเลือกซื้อของเซ่นไหว้จากสถานที่ผลิตจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ การปรุงประกอบอาหาร การล้างทำความสะอาด เพื่อให้อาหารมีความสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการ

            วันนี้ (19 มกราคม 2566) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการเป็นประธานรณรงค์เทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2566 ณ บริเวณวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ว่า เทศกาลตรุษจีนของทุกปี คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะประกอบพิธีไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองและครอบครัว การจุดธูป เผากระดาษเงิน กระดาษทองนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการทำให้เกิดสารก่อมลพิษต่างๆ จากการเผาทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ฟอร์มาลดีไฮด์ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย รวมทั้งโลหะหนักจากขี้เถ้าธูป ประกอบกับผลการสำรวจอนามัยโพล เรื่อง ป้องกันฝุ่น ป้องกันโรค อย่างไร? ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่สอบถามประชาชน ระหว่างวันที่ 7-17 มกราคม 2566 พบว่า ประชาชนไม่มีกิจกรรมทำในวันตรุษจีน ไม่จุดธูปและไม่เผาวัสดุใด ๆ ร้อยละ 42.75 แต่ยังพบจุดธูป เทียน ร้อยละ 26.44 ไหว้บรรพบุรุษแบบรวมญาติ และกินอาหารร่วมกัน ร้อยละ 22.85 และเผากระดาษเงิน กระดาษทอง หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อไหว้บรรพบุรุษ ร้อยละ 19.26

            นายแพทย์อรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนร่วมกันลดควัน ลดฝุ่น ลดผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยการเลือกใช้ธูปขนาดสั้น เลือกกระดาษเงิน กระดาษทองที่มีฉลากและแสดงข้อความครบถ้วน เช่น วิธีใช้การเก็บรักษาคำเตือนเพื่อความปลอดภัย ชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต และผู้นำเข้า ลักษณะภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพเรียบร้อย เลี่ยงการจุดธูปหรือเผากระดาษเงิน กระดาษทองในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ขณะประกอบพิธีกรรม ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขณะจุดธูปหรือเผา เพื่อลดปริมาณการสัมผัสเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อเสร็จพิธีกรรมล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา และเก็บกวาดก้านธูป ขี้เถ้า ใส่ถุงและมัดปากถุงให้แน่น นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง                   

            “ทั้งนี้ การจับจ่ายของเซ่นไหว้เทพเจ้าทั้งในตลาดสดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ควรเลือกซื้ออาหารให้สะอาด ปลอดภัยดีต่อสุขภาพ โดยเลือกซื้อจากสถานที่ผลิตจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ หรือมีเครื่องหมายรับรองจากทางราชการ เช่น อาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ต้องเลือกชิ้นเนื้อที่สดใหม่ เนื้อแน่น ไม่ยุ่ย สะอาด ไม่มีสีคล้ำ และไม่มีกลิ่นเหม็น เป็ด ไก่ ควรมีเนื้อแน่นสะอาด ไม่มีการทาสีตามตัว ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และไม่มีสีคล้ำ สำหรับผักและผลไม้ ควรเลือกผักสดผลไม้ที่แน่นสีสดตามธรรมชาติ สะอาด ไม่เหี่ยวเฉา ไม่มีร่องรอยเน่าช้ำ ไม่มีเศษดินหรือคราบสกปรก รวมทั้งคราบสีขาวของยาฆ่าแมลง ส่วนขนมหวาน เลือกขนมที่ไม่มีสีสันฉูดฉาด บรรจุในภาชนะที่สะอาด ไม่ร่องรอยการแกะมาก่อน และต้องดูวันหมดอายุก่อนตัดสินใจซื้อ เมื่อเซ่นไหว้เสร็จแล้ว หากจะนำอาหารมากินต้องปรุงประกอบอาหารให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มน้ำให้สะอาดเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน ชา กาแฟ และน้ำอัดลม งดหรือหลีกเลี่ยงของหมักดอง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผักและผลไม้ ก่อนนำมากินให้ล้างทำความสะอาด ด้วย 3 วิธี ได้แก่ 1) ให้ล้างด้วยน้ำไหล 2) แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ และ 3) ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) เพื่อให้อาหารมีความสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการ ส่วนการปรุงอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หากทอดอาหารควรใช้ไฟปานกลางเพื่อป้องกันการไหม้ของอาหาร น้ำมันให้ใช้เพียงครั้งเดียว การผัดผัก ลวก นึ่ง ควรปรุงให้สุกโดยใช้ไฟแรง และเวลาสั้น เพื่อรักษาคุณค่าอาหาร และผลไม้มีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารสูง ซึ่งการกินผลไม้สด จะให้ประโยชน์มากกว่าผลไม้ เพราะจะได้ใยอาหาร” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 19 มกราคม 2566



   
   


View 690    19/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ