กรมอนามัย เตือนประชาชนจุดประทัดช่วงเทศกาลตรุษจีน ให้ระมัดระวังอันตรายทั้งจากอาการหูตึง รวมถึงอาการบาดเจ็บทางผิวหนัง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ทั้งยังอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีหลายชนิด และอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยด้วย

        นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจุดประทัด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากการโดนสะเก็ดประทัด ทำให้ผิวหนังไหม้ รวมถึงอาจได้รับบาดเจ็บจากประทัดระเบิดจนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ หรือหากสัมผัสหรือสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษ เช่น สารโพแทสเซียมเปอร์คลอเรต สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน สารโพแทสเซียมไนเตรต สารแบเรียมไนเตรต เข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หู ตา จมูก ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะสารแบเรียมไนเตรตที่มีพิษมาก อาจทำลายตับ ม้าม รวมถึงทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจุดประทัดในแต่ละครั้งอาจก่อให้เกิดเสียงที่มีความดังถึง 130 เดซิเบล เอ ซึ่งมีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว และหากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวรได้ นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้หากมีชิ้นส่วนของประทัด กระเด็นไปถูกวัตถุไวไฟ หรืออาคารบ้านเรือนที่ติดไฟง่าย ดังนั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจุดประทัดในการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน จึงมีข้อควรระวังเพื่อป้องกันอันตราย โดยขอให้ประชาชนเลือกซื้อประทัดที่มีฉลากและแสดงข้อความครบถ้วนโดยเฉพาะภาษาไทย เช่น วิธีใช้ การเก็บรักษา คำเตือนเพื่อความปลอดภัย ชื่อที่อยู่ผู้ผลิตและผู้นำเข้า เป็นต้น รวมถึงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ในการจุดประทัดควรจุดให้ไกลจากบ้านเรือน แนวสายไฟ สถานีน้ำมันเชื้อเพลิง ถังแก๊ส และวัตถุไวไฟ รวมถึงห้ามเด็กจุดหรือถือประทัดเอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีการจุดประทัด นอกจากนี้ ขณะจุดประทัดห้ามก้มหน้าเข้าไปใกล้ประทัด ห้ามโยนประทัดใส่กลุ่มคนเด็ดขาด และห้ามใช้เทียนหรือไฟแช็กในการจุดประทัดโดยตรง ควรใช้ที่จุดที่มีลักษณะเฉพาะและมีลักษณะยาว รวมถึงไม่ควรจุดประทัดครั้งละมาก ๆ 

         “ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากประทัดให้ใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผลหรือเปิดน้ำให้ไหลผ่านประมาณ 10 นาที และปิดด้วยผ้าสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากบาดแผลอยู่ในบริเวณที่มีเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟไหม้ออก หากถอดลำบากให้ตัดเป็นชิ้น ๆ ห้ามทาน้ำมัน ยาสีฟัน ยาหม่อง น้ำปลาหรือสารใด ๆ บนบาดแผล หากบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที และรีบโทรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย /  20 มกราคม 2566



   
   


View 378    23/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ