กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อประชาชน โดย Global climate risk index 2021 ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทั้งในปัจจุบันและมีผลถึงลูกหลานในอนาคตด้วย ดังนั้น กรมอนามัยจึงได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564 – 2573) หรือแผน HNAP เพื่อเป็นกรอบแนวทางการรับมือผลกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

           วันนี้ (30 มกราคม 2566) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า Climate Change เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2613 จะมีประชาชนไทยกว่า 2.5 ล้านราย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงภัยพิบัติที่รุนแรงและเกิดบ่อยมากขึ้น โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่ทั้งการป่วยและเสียชีวิตจากภัยพิบัติ โรคจากความร้อน  โรคติดต่อนำโดยแมลง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เป็นต้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสถานบริการสาธารณสุข และภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่มีการเตรียมการใดๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่มีการเตรียมพร้อมด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

          นายแพทย์อรรถพล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการรับมือด้านสาธารณสุขรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564 – 2573) หรือ HNAP เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้และมีทักษะในการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1) H : Health Literacy การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและทักษะของประชาชนในการปรับตัวและจัดการตนเองต่อภัยสุขภาพ 2) N : Networking การบูรณาการศักยภาพ ทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการสาธารณสุขจาก Climate Change อย่างเข้มแข็ง 3) A: Advocacy การเสริมสร้างความพร้อมของประเทศด้านการสาธารณสุข จาก Climate Change รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และ 4) P:  Public health preparedness การพัฒนาระบบการสาธารณสุขของประเทศเพื่อรับมือ Climate Change อย่างมีมาตรฐานสากล   

           สำหรับการสัมมนาวิชาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนแผน HNAP เพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานการขับเคลื่อน HANP ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 30  มกราคม 2566



   
   


View 641    30/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ