ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 16 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรีติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรงพยาบาลบ้านโป่ง และติดตามเหตุเพลิงไหม้ ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลดำเนินสะดวก โดยปรับใช้พื้นที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชายเป็นจุดให้บริการฉุกเฉินแทน รองรับผู้ป่วยได้ตามปกติ กำชับซ้อมแผนเผชิญเหตุ จัดทำคู่มือเพื่อป้องกันการเกิดเหตุในอนาคต พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์
วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2566) ที่จังหวัดราชบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ลงพื้นที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง และโรงพยาบาลดำเนินสะดวก เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข โดยที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ได้วางแผนการพัฒนาระบบบริการต่อเนื่อง 5 ปี โดยปี 2566 จะให้บริการผ่าตัดส่องกล้อง ขยายหอผู้ป่วยจิตเวช เพิ่มเตียงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำการผ่าตัดด้านสมอง และจัดคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ ปี 2567 เปิดศูนย์ผ่าตัดเส้นเลือด ศูนย์ทารกแรกเกิดวิกฤต ปี 2568 จัดสร้างอาคารสนับสนุนบริการและหอพักบุคลากร ปี 2569 ให้บริการห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผ่าตัดสมอง และในปี 2570 จะขยายอาคารผู้ป่วยในและห้องผ่าตัด และเป็นศูนย์ผ่าตัดส่องกล้อง สำหรับการให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ได้ปรับอาคารหอผู้ป่วยอนุสรณ์ 45 ปี บริเวณชั้น 2 เป็นหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด รับส่งต่อไปยังโรงพยาบาลราชบุรี และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจำนวน 5 ราย พร้อมทั้งได้ส่งบุคลากรและเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายบริการต่อไป
สำหรับการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลดำเนินสะดวก ได้รับรายงานอุปกรณ์เกิดความเสียหาย เช่น เครื่องอัลตร้าซาวน์ เครื่องปั๊มหัวใจอัตโนมัติ (Auto CPR ) คาดว่าสาเหตุเกิดจากตัวอุปกรณ์ ส่วนโครงสร้างอาคารไม่ได้รับผลกระทบ โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 5 ได้จัดส่งเครื่องมืออุปกรณ์มาช่วยเหลือทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ตามปกติ ขณะนี้ปรับพื้นที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชายเป็นจุดให้บริการห้องฉุกเฉินชั่วคราว ไม่กระทบบริการประชาชน ส่วนยาและเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ วัสดุการแพทย์ต่างๆยังมีเพียงพอให้บริการ ทั้งนี้ ได้กำชับทีมสุขภาพจิตดูแลและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ พร้อมเน้นซ้อมแผนเผชิญเหตุ จัดทำคู่มือเพื่อป้องกันการเกิดเหตุในอนาคต
“จากที่ได้รับทราบข้อมูล ทำให้เห็นถึงความตั้งใจและการปฏิบัติงานที่มุ่งมั่นของเขตสุขภาพที่ 5 ทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และความร่วมมือของคนในชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้มีศักยภาพในการให้บริการประชาชน อย่างไรก็ตามขอย้ำเรื่องการเชื่อมโยงการทำงานเชิงรุก เน้นการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการที่สะดวก ลดความแออัด รวมทั้งต้องไม่ลืมดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วย” นายแพทย์โอภาส กล่าว
*********************************** 9 กุมภาพันธ์ 2566