กรมอนามัยแนะสุขอนามัยสำหรับ ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ให้ถูกใจเหล่าทาส
- กรมอนามัย
- 25 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถิตในแต่ละปีทั่วโลก มีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละ 372,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 146,000 คน โดยประเทศไทยสถิติจมน้ำเสียชีวิตปีละ 3,592 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 737 คน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกๆ วันเราสูญเสียคนไทยจากการจมน้ำถึงวันละ 10 คน โดยสหประชาชาติ แนะนำให้ประเทศสมาชิกดำเนินงานป้องกันการจมน้ำใน 10 ประเด็นหลัก
วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2566) ณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบให้ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อเสนอของสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้การดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในประเทศไทยสอดรับกับมติของสหประชาชาติ และลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ป้องกันการจมน้ำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่า การจมน้ำเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 รองจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในแต่ละปี ทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละ 372,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 146,000 คน สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2555 - 2564) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 35,915 คน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 7,374 คน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกๆ วันเราสูญเสียคนไทยจากการจมน้ำถึงวันละ 10 คน
นายแพทย์ธเรศกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ จึงมีภารกิจในการผลักดันให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการในประเด็นที่องค์การอนามัยโลกให้ข้อเสนอแนะไว้ โดยจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ณ เมืองนิวยอร์ก ได้รับรองข้อมติเรื่อง “Global Drowning Prevention” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นฉันทามติร่วมกันในเรื่องการป้องกันการจมน้ำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยได้เสนอให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามมติของการประชุม โดยมี 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันการจมน้ำระดับชาติ 2) การพัฒนาแผนงานป้องกันการจมน้ำระดับชาติ 3) การพัฒนาโครงการป้องกันการจมน้ำให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 4) การมีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำและมีการบังคับใช้ 5) การมีข้อมูลการจมน้ำระดับชาติ 6) การส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักและรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 7) การบูรณาการงานป้องกันการจมน้ำไว้ในโครงการที่เกี่ยวกับภัยพิบัติที่มีอยู่ 8) การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศโดยการแบ่งปันบทเรียน ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี 9) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ/เทคโนโลยีนวัตกรรม และแบ่งปันให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และ 10) การนำเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ หลักสูตรการว่ายน้ำ และการปฐมพยาบาล เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียน พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day)” โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการจมน้ำที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามมติของสหประชาชาติ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อเสนอของสหประชาชาติเป็น 1 ใน 8 คณะอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี(พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานฯทั้งนี้คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการ จำนวน 37 ท่าน จาก 30 หน่วยงาน
****************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566