กรมอนามัยแนะสุขอนามัยสำหรับ ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ให้ถูกใจเหล่าทาส
- กรมอนามัย
- 31 View
- อ่านต่อ
กรมวิทย์ฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบ DMSc-TB FastAmp (TB-LAMP) สำหรับตรวจหาเชื้อกลุ่มวัณโรค ด้วยเทคนิค LAMP ให้เอกชนผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ช่วยค้นหาผู้ป่วยได้รวดเร็ว แม่นยำ สนับสนุนการควบคุมและป้องกันวัณโรคของประเทศ
วันนี้(14 มีนาคม 2566) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดพิธีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบ DMSc-TB FastAmp (TB-LAMP) ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ บริษัท เออีซี เฮลธ์แคร์ จำกัด โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นายนนทศักดิ์ ประยูรเธียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออีซี เฮลธ์แคร์ จำกัด ร่วมลงนาม และมีนายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้บริหารบริษัท เออีซี เฮลธ์แคร์ จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 902 ชั้น 9 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis เกิดได้ในหลายอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด (ร้อยละ 80) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย นอกจากนี้อาจพบวัณโรคนอกปอดได้ในอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค 150 ต่อ 100,000ประชากรหรือประมาณปีละ 105,000 คน โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยาให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่งอย่าหยุดกินยาเองอย่างเด็ดขาด และไปพบแพทย์ตามนัดจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาได้ อย่างไรก็ตามการยุติปัญหาวัณโรคของประเทศจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งด้านการค้นหาผู้ป่วย การรักษา รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคสู่ประชาชน
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยให้ครอบคลุม โดยเฉพาะการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งการควบคุมวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ จะต้องวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องรวดเร็วและรักษาด้วยยาที่ได้ผล ปัญหาคือเราจะเจอคนไข้ได้อย่างไร เทคโนโลยีที่จะมาช่วยค้นหาวัณโรคได้เร็วจึงเป็นโจทย์สำคัญ ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้พัฒนาชุดทดสอบ DMSc-TB FastAmp (TB-LAMP) สำหรับตรวจหาเชื้อกลุ่มวัณโรค ด้วยเทคนิค LAMP ซึ่งเป็นวิธีการตรวจดีเอ็นเอของเชื้อวัณโรคจากตัวอย่างเสมหะ โดยการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม วิธีการตรวจง่าย มีความแม่นยำสูง สามารถอ่านผลรวดเร็วได้ด้วยตาเปล่า รู้ผลใน 2 ชั่วโมง สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงใช้ตรวจเพิ่มในรายที่มีผลตรวจย้อมเชื้อในเสมหะเป็นลบ
“ต้องขอขอบคุณ สปสช. ที่ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ นั่นหมายความว่า คนไทยทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงบริการนี้ได้โดย สปสช. จะจ่ายค่าบริการ 200 บาทต่อคน แต่ปัญหาคือน้ำยาที่จำหน่ายในท้องตลาดมีราคาประมาณ 300 บาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้พัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวขึ้นมา และได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวัณโรค ปัจจุบันมีโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย สามารถใช้ชุดตรวจด้วยชุดทดสอบนี้ ครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 40 แห่ง ซึ่งจะส่งผลดีในการค้นหาผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค หรือกลุ่มเป้าหมายในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค และเนื่องจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ จึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทเอกชนผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้สถานพยาบาลสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่เหมาะสมภายใต้การดูแลองค์ความรู้และเทคโนโลยีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการกับหน่วยงานที่มีความประสงค์ใช้ชุดทดสอบนี้ได้มากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนคนที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคก็จะได้รับการตรวจที่เร็วขึ้น สามารถค้นหาผู้ป่วยและนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการควบคุมและป้องกันวัณโรคให้ลดน้อยลงเรื่อยๆ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย