กรมอนามัยแนะสุขอนามัยสำหรับ ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ให้ถูกใจเหล่าทาส
- กรมอนามัย
- 25 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”
ฉบับที่ ฉบับที่ 9/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 10 (วันที่ 12 – 18 มีนาคม 2566)
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตามรายงานในระบบเฝ้าระวัง 506 สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 3 รายใน 3 จังหวัด และเสียชีวิตทั้ง 3 ราย (จังหวัดชลบุรี 1 ราย สงขลา 1 ราย และจังหวัดสมุทรปราการ 1 ราย) สำหรับในปี 2566 (1 มกราคม - 8 มีนาคม) พบผู้ป่วยแล้วจำนวน 2 ราย (จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง) และเสียชีวิตแล้วทั้ง 2 ราย สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการไม่ไปพบแพทย์ และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค โดยเฉพาะรายที่ 2 ที่เคยมีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำหลังถูกสุนัขกัด”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้อาจพบผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับสภาพอากาศอากาศที่ร้อนขึ้นอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล ผ่านการกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ ได้แก่ สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบบ่อยที่สุด คือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและวัว จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน และนำสุนัขและแมวที่เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชน นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนตามจุดที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ในสัตว์) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครมีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย และกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดินแดง หรือหน่วยบริการฉีดวัคซีนสุนัขบ้าฟรี รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง หากพบเห็นสัตว์สงสัยป่วยโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน สำหรับการป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียมือ มี 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัด สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งสัตว์ที่สงสัยตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ 3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะฉีดเพียง 4 – 5 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน ให้รีบล้างแผลทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด โดยการฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัดทุกครั้ง เพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทและแสดงอาการป่วยแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 17 มีนาคม 2566