อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ร่วมกับสมาคมแพทย์เฉพาะทาง ได้แถลงข่าวเรื่องการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ และการรักษาโควิด 19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์เฉพาะทางเข้าร่วม ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย และสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
วันนี้ (22 มีนาคม 2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปว่า ที่ผ่านมา ได้นำมาฉีดเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จากการฉีดวัคซีน รวมถึงนำมาใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 พบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง โดยในวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์เฉพาะทาง ได้มีการจัดประชุมแนวทางการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ซึ่งยังคงแนะนำให้กลุ่มเสี่ยง 607 และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ และยังคงแนะนำให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเป็นหนึ่งในยาหลักในการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้าเกณฑ์สามารถเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ได้ที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ทุกแห่งทั่วประเทศ สถาบันบำราศนราดูร และสถานพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงกลุ่มเป้าหมายที่แนะนำให้เข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาหรือมะเร็งอวัยวะที่กำลังได้รับการรักษาหรือเพิ่งหยุดการรักษาภายใน 6 เดือน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม หรือโรคอื่น ๆ ที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึง ผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งควรได้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เพิ่มขนาดการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ เป็น 600 มิลลิกรัม (Tixagevimab 300 มิลลิกรัม และ Cilgavimab 300 มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้างแยกกันตามลำดับ โดยจะป้องกันโรคได้นานประมาณ 6 เดือน ต่อการฉีด 1 ครั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ยังมีอยู่ขณะนี้ ยังใช้ได้ดีกับสายพันธุ์ BA 2.75 และ BN.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปมีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัยสูง
นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ ผู้แทนสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผู้ป่วยโรคไตที่แนะนำให้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยฟอกไต และผู้ป่วยไตอักเสบที่ได้รับยากดภูมิ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตที่เป็นผู้สูงอายุหรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งการรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปจะทำให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันต่อโควิด 19 ลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ และจากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป พบว่ามีความปลอดภัยสูง
ศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต ผู้แทนสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทางสมาคมได้ประชุมทบทวนข้อมูลงานวิจัยการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และมีความเห็นควรแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยจำนวนกว่า 6,000 ราย เข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เนื่องจากเป็นผู้ที่ต้องรับยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ซึ่งหากติดเชื้อโควิด 19 จะเกิดภาวะรุนแรงและมีโอกาสเกิดภาวะสลัดอวัยวะสูงขึ้นหากมีการปรับลดยากดภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เมื่อจำเป็นต้องได้รับยาสำหรับการรักษาโควิด 19 อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากดภูมิที่ใช้และยารักษาโควิด 19 อีกทั้งข้อมูลจากการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 1,200 ราย พบว่ามีความปลอดภัยสูงสามารถให้ได้ร่วมกับยากดภูมิที่ได้รับอยู่ และพบอัตราการติดเชื้อโควิด 19 ต่ำ รวมถึงสามารถลดอาการรุนแรง การเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ และการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ
นพ.วิรัตน์ ภิญโญพรพานิ ผู้แทนสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดและสามารถใช้ได้ดีทั้งการป้องกันและการรักษา ทั้งนี้พบว่าจากผลการศึกษาและจากประสบการณ์การใช้จริง ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงและผลข้างเคียงที่ต่ำมาก
พญ ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ได้กล่าวถึง การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อรักษา โดยแนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสําเร็จรูปในผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มผู้ใหญ่และสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือ มีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยใช้ขนาด 600 มิลลิกรัม ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้างแยกกันตามลำดับ จำนวน 1 ครั้ง และควรรับให้เร็วที่สุดหรือภายใน 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ
********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 22 มีนาคม 2566