กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประโยชน์และข้อควรระวังในการกิน พะแนงหมู ที่ TasteAtlas ได้จัดให้ติดอันดับ 1 ของอาหารประเภทสตูที่มีรสชาติอร่อยเข้มข้นครบรสดีที่สุดในโลก และยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ก็มีข้อควรระวังในการบริโภคด้วย

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารไทยถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมด้านอาหารที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ที่ผ่านมาอาหารไทยเคยได้รับการกล่าวถึงในสื่อต่างประเทศบ่อยครั้ง ซึ่งล่าสุด TasteAtlas เว็บไซต์สารานุกรมรสชาติได้รวบรวมข้อมูลเมนูอาหาร วัตถุดิบท้องถิ่น และร้านอาหารต้นตำรับจากทั่วโลก ได้จัดอันดับ "แกงพะแนง" ให้ติดอันดับ 1 ของอาหารประเภทสตูที่มีรสชาติดีที่สุดในโลก แซงหน้าแกงกะหรี่ญี่ปุ่น และหม้อไฟหม่าล่าแบบเสฉวน กรมอนามัยจึงอยากแนะนำคุณค่าทางโภชนาการของพะแนงหมู 1 ถ้วย ในปริมาณขนาด 100 กรัม ให้พลังงาน 158 กิโลแคลอรี โปรตีน 12.2 กรัม ไขมัน 9.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 6.7 กรัม พะแนงหมูจัดเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เนื่องจากมีโปรตีนและไขมันจากเนื้อหมู และมีไขมันจากกะทิ เหมาะกับคนที่ใช้พลังงานเยอะ

            นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับคุณประโยชน์ของพะแนงหมู เนื้อหมูเป็นแหล่งของโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดไขมัน กรดอะมิโนที่จำเป็น ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนรู้ มะเขือพวงมีใยอาหารสูง ช่วยระบบการขับถ่าย และช่วยชะลอการดูดซึมคอเลสเตอรอล กะทิทำให้อาหารมีเนื้อสัมผัสเข้มข้น รสชาติกลมกล่อม หวานมัน และมีวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ มีไขมันอิ่มตัวมากกว่าร้อยละ 90 จึงให้พลังงานสูงและช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน อีกทั้งเครื่องแกงและส่วนประกอบอื่น เช่น ข่า ตะไคร้ หอมแดง พริกชี้ฟ้า ใบมะกรูด ยังเป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณ ช่วยขับลม แก้อาการแน่น จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเสมหะ อีกด้วย แม้ว่าพะแนงหมูจะมีประโยชน์ แต่ก็มีข้อควรระวังในการบริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับพลังงานและไขมันอิ่มตัวมากเกินไป โดยหากบริโภคพะแนงหมูในมื้ออาหารนั้น ไม่ควรทานร่วมกับเมนูอาหารทอด อาหารมันชนิดอื่น เลือกบริโภคข้าวกล้องแทนข้าวขาวเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุเพิ่ม เพิ่มการกินซึ่งเป็นแหล่งของใยอาหาร การรับประทานใยอาหารเป็นประจำจะสามารถช่วยลดกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายเป็นปกติ และลดการดูดซึมไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้ อาจจะเลือกวัตถุดิบที่ใช้จากกะทิเป็นนมวัว เพราะปริมาณที่เท่ากันนมวัวจะให้พลังงานน้อยกว่า แต่จะได้รับโปรตีนและแคลเซียมมากกว่า เลือกใช้เนื้อหมูไม่ติดมันก็จะช่วยลดไขมันที่ร่างกายได้รับ

           “ทั้งนี้ การปรุงประกอบอาหารที่มีกะทิไม่ควรทำปริมาณมากเกินไป เพราะกะทิเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้อาหารเสียได้ง่าย โดยเฉพาะอาหารปรุงค้างมื้อที่ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ร้านควรเช็กรสชาติ กลิ่น และสีของอาหาร ก่อนบริโภค หากมีลักษณะบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป หรือมีกลิ่นไม่ดี แสดงว่าอาหารบูดหรือเน่าเสียต้องทิ้ง ดังนั้นหากกินไม่หมดควรนำไปเก็บในตู้เย็น และควรแยกทัพพีในการตักเมนูอาหารนั้น ๆ เพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ที่ทำให้อาหารบูดหรือเน่าเสียได้ง่ายกว่า อีกทั้งการปรุงรสไม่ควรมากนัก โดยปริมาณที่กำหนดในเมนูอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคโดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตามหลัก 6: 6: 1 ในหนึ่งวันไม่ควรบริโภค น้ำมัน น้ำตาล เกิน 6 ช้อนชา และเกลือเกิน 1 ช้อนชา และหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด เค็มจัด ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงอย่างพะแนงหมู ผู้ที่ไม่มีปัญหารับประทานได้แต่ไม่ควรกินบ่อยหรือมากเกินไป พร้อมควบคู่กับการออกกำลังกาย เพื่อช่วยป้องกันการได้รับพลังงานมากเกินไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 24 มีนาคม 2566

 



   
   


View 297    24/03/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ