กรมอนามัย เผยเด็กอ้วนในวัยเรียนมีผลกระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อภาวะบกพร่องด้านสติปัญญา และการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เด็กอ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึง 5 เท่า มูลค่าต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคอ้วนของประเทศไทยสูงถึง 12,142 ล้านบาท โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ และการสูญเสียเงินได้จากการตายก่อนวัยอันควร ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาเด็กเริ่มอ้วนและอ้วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ และสนับสนุนให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี แต่ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กวัยเรียนยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น

         ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการลดน้ำหนักในเด็กวัยเรียน ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่าสาเหตุของโรคอ้วนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การตลาดอาหารที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้า ขาดการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลือกกินอาหารที่ให้พลังงานสูง สถานที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอ ออกกำลังกายน้อยลง มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นจนเป็นโรคอ้วน  

            ดร.นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการแก้ไขเด็กนักเรียนอ้วนต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งโรงเรียน สถานบริการสาธารณสุข ครอบครัวและชุมชน โดยโรงเรียนจะต้องมีระบบเฝ้าระวังภาวะอ้วนของนักเรียน ประเมินภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กทุก 3 เดือน เพื่อจัดการภาวะโภชนาการ ปรับพฤติกรรมการกิน สร้างวินัยและฝึกนิสัยการกินที่ดี กำกับติดตามประเมินคุณภาพการจัดอาหารกลางวัน ส่งเสริมให้สถานศึกษาจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ผลักดันการเรียนการสอนด้านโภชนาการผ่านกลุ่มสาระการเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการบริโภคอาหารและมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม รวมทั้งคัดกรอง Obesity sign ในเด็กที่มีภาวะอ้วนเพื่อส่งต่อการรักษาในเด็กที่พบ Obesity sign ทั้งนี้ ยังต้องการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเข้ามาขับเคลื่อนงานด้วยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม

          “ดังนั้น กรมอนามัยจึงต้องพัฒนารูปแบบการจัดการลดน้ำหนักในเด็ก โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อลดน้ำหนักในเด็กนักเรียน ทั้งในเขตเมืองและนอกเขตเมืองซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น การใช้โภชนาการบำบัด การสื่อสารสร้างฝึกทักษะให้รอบรู้ หรือการสร้างเป็นโมเดลการจัดการลดน้ำหนักในเด็กวัยเรียน 3 Modules ประกอบด้วย 1) ทักษะโภชนาการ 2) ทักษะกิจกรรมทางกาย และ 3) การจัดการพฤติกรรม โดยใช้เทคนิค 3 Self ประกอบด้วย 1) ทักษะการดูแลตนเอง 2) ทักษะการเผชิญปัญหา 3) การจัดสิ่งแวดล้อมที่บ้าน โรงเรียน และเครื่องมือต่างๆ เช่น คู่มือ คลิปวีดีโอ สมุดบันทึก แบบประเมินพฤติกรรม มุ่งหวังให้โรงเรียน สถานบริการสาธารณสุข ครอบครัวและชุมชน ร่วมกันแก้ไขปัญหา ให้เด็กไทยแข็งแรง มีสุขภาพดีดีต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

 ***             

กรมอนามัย /  24 มีนาคม 2566



   
   


View 288    24/03/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ