อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมขยับเกณฑ์ความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศไทยให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ของการรับรอง “สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ” ลดปริมาณความหวานจากเดิมร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 5 เทียบเท่ากับเครื่องดื่มชงหวานน้อยสั่งได้ เพื่อลดพฤติกรรมติดหวานและการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน
(วันที่ 28 มีนาคม 2566) นายแพทย์เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงานมหกรรม “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ” ณ กระทรวงสาธารณสุข และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook กรมอนามัย ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มของคนไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการติดหวานให้น้อยลง ซึ่งที่ผ่านมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” และมอบให้กรมอนามัยขับเคลื่อน เพื่อลดปริมาณความหวานของร้านเครื่องดื่มชงลงเหลือร้อยละ 5 ส่งผลให้ในขณะนี้มีภาคธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มรายใหญ่เข้าร่วมนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้”จำนวน 27 แบรนด์ รวมทั้งร้านค้าที่เป็น Local brand ทั่วประเทศ อีกจำนวน 2,355 ร้าน นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมให้มีอาหารมีคุณภาพ ความปลอดภัย มีคุณค่าและสมประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ได้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ที่ปัจจุบันมีเกณฑ์การรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” จำนวน 14 กลุ่มอาหาร และจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพมีจำนวน 2,749 ผลิตภัณฑ์ จาก 444 บริษัท
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การบริโภคอาหาร การปฏิบัติตน การออกกำลังกาย เป็นต้น และจากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560–2562 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลทราย 2.5–2.6 ล้านตันต่อปี และ ปี 2562 คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้วต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม โดยสถานการณ์ประเทศไทยปี 2559-2563 พบว่า มีอัตราการเสียชีวิต เนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็งทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 123.3 47.1 และ 31.8 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีความหวาน ความมัน และความเค็มมากเกินเกณฑ์ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
"กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้จัดงานมหกรรม “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ” ขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมปรับเกณฑ์ความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของประเทศไทยให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยปรับลดเกณฑ์ความหวานของการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 เท่ากับหวานน้อยสั่งได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมในการปรับตัว รวมถึงประชาชนก็จะได้ทราบถึงเกณฑ์ความหวานที่ดีต่อสุขภาพของตนเอง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 28 มีนาคม 2566