ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ยังเฝ้าระวังปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่อง วันนี้ค่าฝุ่นยังสูงสุดที่ “แม่ฮ่องสอน” ผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสม 2 ล้านราย พร้อมเตรียมสถานที่ บริการทางการแพทย์ สำรองยา เวชภัณฑ์ รองรับกรณีไฟป่า จ.นครนายก ไว้แล้ว ห่วงโรคฮีทสโตรกช่วงหน้าร้อน แนะวิธีป้องกัน สังเกตอาการ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          วันนี้ (31 มีนาคม 2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ข้อมูลวันที่ 31 มีนาคม 2566 ช่วงเวลา 06.00 น. ค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมง พบว่า ภาคเหนือยังอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าสูงสุดอยู่ที่ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 446 มคก./ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นมา มีรายงานผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้ว 2,019,854 ราย เฉพาะเดือนมีนาคมนี้ พบกลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ตามด้วยโรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ได้สั่งการให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสื่อสารแจ้งเตือนผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น เตรียมอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ต่างๆ การจัดบริการทางการแพทย์ สถานที่สำรองหรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็น พร้อมทั้งสำรองยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้เพียงพอต่อการให้บริการ

            นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีกรณีที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมคือ สถานการณ์ไฟป่า จ.นครนายก ซึ่งมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีเหตุอัคคีภัย (ไฟป่า) จำนวน 5 หมู่ ของ อ.เมือง โดยได้รับรายงานจาก นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ว่า เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข รพ.สต. อสม. และ ทีม MCATT อ.เมือง ได้ออกเยี่ยมประชาชน ม. 12 และ 13 ต.เขาพระ ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ จำนวน 13 หลังคาเรือน และที่วัดวังรี มีผู้ป่วยติดเตียง 5 ราย ผู้สูงอายุ 11 ราย ประชาชน 28 ราย พบว่าได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันไฟไม่มาก มีความกังวลใจ แต่ยังไม่ต้องการอพยพออกจากบ้านเรือน เจ้าหน้าที่จึงได้ให้การดูแลสภาพจิตใจ แนะนำวิธีป้องกันตนเอง พร้อมมอบหน้ากากอนามัย และแจ้งเบอร์โทรติดต่อหากต้องการความช่วยเหลือ

          นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพในช่วงหน้าร้อนนี้ คือ โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เนื่องจากคาดว่าอุณหภูมิจะสูงถึง 41 องศาเซลเซียส โดยอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคลมแดด คือ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังแดง ร้อน แห้ง ชีพจรเต้นเร็วและแรง สับสน กระวนกระวาย พูดไม่รู้เรื่อง
ชัก ซึมลงและหมดสติ การป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำให้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หากออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงควรดื่มน้ำ 2-4 แก้วทุกชั่วโมง สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย ส่วนและกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ควรให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และไม่ควรปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้นำตัวผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม จัดให้นอนราบและยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม และรีบลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย หากผู้ป่วยยังไม่ได้สติ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

********************************** 31 มีนาคม 2566



   
   


View 1412    31/03/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ