ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 14 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวรณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ยึดหลัก “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ย้ำประชาชนขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย ดูแลตนเอง สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนหมู่มาก ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นหากได้รับเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน ด้านสาธารณสุขเตรียมพร้อมศูนย์แจ้งเหตุสั่งการ ประสานเครือข่ายปฏิบัติการฉุกเฉินพร้อมปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมง เพื่อฉลองสงกรานต์อย่างมีความสุขและปลอดภัย
วันนี้ (10 เมษายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าว “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยมีหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเตรียมความพร้อมดูแลผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา
ดร.สาธิต กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ประชาชนส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวต่างจังหวัด ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เปิดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศทำให้มีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายรณรงค์เน้นย้ำเรื่องการขับขี่ยานพาหนะให้เกิดความปลอดภัย ปลอดจากอุบัติเหตุ กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข ขณะเดียวกันยังต้องดูแลป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 แม้การระบาดจะลดลงแล้ว แต่ไม่ควรประมาท ขอให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนหมู่มาก และเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นหากได้รับเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน
“ที่ผ่านมา ช่วงเทศกาลสงกรานต์กระทรวงสาธารณสุขได้มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุ ในรายที่ไม่สามารถเป่าเครื่องตรวจทางลมหายใจได้ พบผู้ขับขี่ถึงร้อยละ 52.6 ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกฎหมายกำหนด แสดงว่าการดื่มแล้วขับยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนทุกคนจะต้องร่วมมือกันรับผิดชอบต่อสังคม โดยผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และก่อนออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และโดยสารต้องสวมหมวกนิรภัย เพื่อให้ทุกคนฉลองสงกรานต์ปีนี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย” ดร.สาธิตกล่าว
นอกจากนี้ ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้อง คัดกรองผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับที่ด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ออกไปขับรถบนถนน เนื่องจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดในถนนสายรอง โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ถึงวิธีการประเมินอาการมึนเมา รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินบนท้องถนนได้อย่างถูกวิธี ลดการเสียชีวิตหรือความพิการลงได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ ทั้งทางบก อากาศ และทางเรือ จัดทีมกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (ALS) ประจำเส้นทางสายหลักที่มีจุดตรวจหรือจุดบริการอยู่ห่างกัน
เพื่อให้การรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ และให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดเตรียมบุคลากร ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู รวมทั้งระบบส่งต่อ สนับสนุนการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุและไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมประสานตำรวจท้องที่มาตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่า ช่วงสงกรานต์ก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลประมาณ เฉลี่ยวันละ กว่า 3,500 ราย และสงกรานต์ปีนี้คาดว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุอาจเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับก่อนช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”
ด้านนายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า พบปัญหาการดื่มแล้วขับเป็นประจำทุกปี และยังพบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่และเวลาห้ามขายด้วย กรมควบคุมโรค ซึ่งรับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 จึงย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกปฏิบัติการเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ขายสุราในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านขายยา สถานบริการสาธารณสุข สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สวนสาธารณะของทางราชการ การขายในเวลาห้ามขาย รวมทั้งการขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หากพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา กรมควบคุมโรคจะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย พร้อมทั้งแจ้งไปยังศูนย์อำนายการความปลอดภัยทางถนนด้วย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งพบการเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับมากที่สุด และหากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3342 หรือ สายด่วน 1422 ได้ตลอด 24 ชม.
“ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้เป็นปีของผู้สูงอายุ และอุบัติเหตุที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ ลื่นหกล้ม ควรสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในบ้าน โดยเฉพาะในห้องน้ำ ให้มีความปลอดภัย เพื่อเป็นของขวัญให้กับผู้สูงอายุ รวมทั้งในช่วงนี้อากาศร้อน อาหารอาจบูดเสียง่าย ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เน้นหลัก “กินร้อน ช้อนตนเอง ล้างมือ” นายแพทย์ธเรศ กล่าว
ด้านพล.ต.ต.กำพล กล่าวว่า พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” โดยตั้งแต่ 27 มีนาคม 2566 ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกับโครงการนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตรการแล้วตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นมา เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บบนท้องถนน ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เรื่องการเมาแล้วขับ คาดเข็มขัดนิรภัยขับรถเร็วเกินกำหนด และสวมหมวกนิรภัย
ทั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ระดมกำลังพลทั่วประเทศ จำนวน 30,734 คน แบ่งเป็นจุดตรวจแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น 1,637 จุด จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จำนวน 2,833 จุด ชุดเคลื่อนที่เร็วสำหรับการช่วยเหลือ ประชาชนที่เกิดอุบัติเหตุหรือรถเสีย จำนวน 2,072 ชุด โดยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ 191
ด้านดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ปีนี้ จะมีความหนาแน่นของการท่องเที่ยว และเดินทาง เพราะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ สสส. ขอเชิญชวน รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” ลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอออนไลน์ “พ่อที่รัก” สะท้อนผลกระทบถึงคนรอบข้าง และคลิปเรื่องเล่าจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากบิ๊กไบค์ และเหยื่อจากคนที่ขับย้อนศร สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนหนุนเสริม การบังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนงานวิชาการ และการปฏิบัติการ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ทางหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 2,000 แห่ง ร่วมรณรงค์-ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย สงกรานต์ 2566 ดื่มไม่ขับ” โดยมีพื้นที่ทำงานเข้มข้นใน 115 ตำบล รวมถึงจัดพื้นที่นำร่อง และขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงในถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และตลอดปี 2566 ได้เตรียมการดำเนินการเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุร่วมกับอำเภอที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กว่า 200 อำเภอ หวังช่วยภาพรวมของประเทศ ลดความสูญเสีย ขอชวนคนไทยทุกคนใส่ใจการขับขี่อย่างปลอดภัย ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง
************************************ 10 เมษายน 2566