อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนให้เลี่ยงนำน้ำบาดาลโซดาจากแหล่งน้ำดิบมาใช้ทั้งอุปโภค บริโภคโดยตรง เนื่องจากยังไม่ผ่านการทดสอบคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการนำมาบริโภคตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภค ควรใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก่อน เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยมากกว่า
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวที่ประชาชนเจาะบ่อบาดาลเจอน้ำโซดา รสซ่าติดลิ้น ซึ่งน้ำบาดาลดังกล่าวเป็นน้ำดิบที่ยังไม่ผ่านการทดสอบคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการนำมาดื่ม ทั้งตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภคและเกณฑ์เสนอแนะคุณภาพน้ำบริโภคเพื่อการเฝ้าระวังกรมอนามัย พ.ศ. 2563 ทั้งนี้แม้น้ำดังกล่าวจะผ่านการทดสอบคุณภาพน้ำจากห้องปฏิบัติการแล้ว อาจจะมีการปนเปื้อนทั้งสารเคมีและเชื้อโรค
จึงต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาดื่ม เช่น การตกตะกอน การกรอง และฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น
“สำหรับการขุดบ่อบาดาลตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนด เขตน้ำบาดาลและความลึกของน้ำบาดาล พ.ศ. 2554 กำหนดให้ท้องที่ของแต่ละจังหวัดในราชอาณาจักรไทยเป็นเขตน้ำบาดาลและให้น้ำบาดาลที่อยู่ลึกจากผิวดินลงไปเกินกว่า 15 เมตร เป็นน้ำบาดาล ส่วนขนาดบ่อหรือการใช้น้ำบาดาล หากบ่อน้ำบาดาลนั้นๆ มีความลึก เกินกว่า 15 เมตร จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย กรมอนามัยจึงประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแนะนำประเด็นทางกฎหมาย การขออนุญาตขุดเจาะบ่อบาดาลหากยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตให้ขออนุญาตขุดเจาะบ่อบาดาลด้วย เนื่องจากบ่อบาดาลที่ชาวบ้านขุดลึก 70 เมตร อยู่ห่างจากระบบประปาหมู่บ้านเพียง 200 เมตร อาจเข้าข่ายความผิดเจาะบ่อบาดาลโดยไม่ได้ขออนุญาต” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า น้ำที่เหมาะสำหรับการบริโภคในครัวเรือนนั้น ควรมีคุณภาพตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกรมอนามัยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้มาโดยตลอด ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง เกณฑ์เสนอแนะคุณภาพน้ำบริโภคเพื่อการเฝ้าระวัง กรมอนามัยพ.ศ. 2563 ได้กำหนดเกณฑ์เพื่อชี้วัดคุณภาพน้ำบริโภคที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค ประกอบไปด้วยเกณฑ์ทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ รวม 21 รายการ เพื่อใช้สำหรับการประเมินคุณภาพน้ำบริโภคให้เหมาะสมกับการบริโภคในครัวเรือนและสนับสนุนให้ประชาชนได้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาด ปลอดภัยต่อไป”
***
กรมอนามัย / 10 เมษายน 2566