กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจง กัญชาทางการแพทย์แผนไทยผ่านกลไกการวิจัยและพัฒนายาจากสมุนไพรอย่างเป็นระบบ สั่งจ่ายได้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ผลิตยาตามความต้องการของสถานพยาบาลเพื่อบริหารจัดการยา     อย่างเป็นระบบ ป้องกันปัญหาของยาที่เหลือเกินความจำเป็น เสริมสร้างความมั่นคงทางยาช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
      นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจงประเด็นที่มีข่าวว่า ผลิตภัณฑ์กัญชา     ทางการแพทย์ในระบบบริการสาธารณสุขหมดอายุ แพทย์ไม่สั่งจ่ายให้ผู้ป่วย เนื่องจากไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของประสิทธิผล             ของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ซึ่งต้องขอชี้แจงว่า ในปัจจุบัน การผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เพื่อใช้ในระบบบริการสาธารณสุขได้ผลิตตามปริมาณ ความต้องการการใช้ยาเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนการใช้ยาในผู้ป่วย 
จากข้อมูลการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 เมษายน 2566 จำแนกเป็น โรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 839 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข 27 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 740 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 11 แห่ง ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา จำนวน 12 แห่ง รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,629 แห่ง พบว่ามีปริมาณการใช้ (ขวด/ซอง/แผง) รวม 18,113,148 (ขวด/ซอง/แผง) ในผู้ป่วย จำนวน 258,513 ราย โดยมีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 42,654 ราย หรือร้อยละ 16.5 รายการยาที่มีการสั่งจ่ายมากที่สุด 5 อันดับแรก (จาก 35 รายการ จากรายงานการใช้ยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยในระบบ HDC)  ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ 7,348,654 ซอง/แผง ยาแก้ลมแก้เส้น 6,763,540 ซอง/แผง ยาทำลายพระสุเมรุ 2,064,421 ซอง/แผง น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) 1,505,878 ขวด  และ ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย 220,568 ซอง/แผง 
       อีกทั้ง ข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาปี 2562 - ปัจจุบัน จำนวน 79,423 ราย มีการใช้ยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยในกลุ่มอาการโรคที่เข้ารับการรักษา ตามอาการต่างๆ ดังนี้ อาการนอนไม่หลับ จำนวน 197,516 ครั้ง อาการปวดตามร่างกาย (ปวดขา ปวดเข่า ปวดบ่า ปวดไหล่) 18,179 ครั้ง อาการปวดหลัง 9,558 ครั้ง อาการลมปะกัง หรือ ลมตะกัง 8,659 ครั้ง อีกทั้ง อาการอื่นๆ อาทิ อาการสันนิบาตลูกนก (โรคพาร์กินสัน)  ลมจับโปงแห้งเข่า ปวดศีรษะ อาการชา รวม 14,131 ครั้ง
       นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า การผลิตยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย เพื่อนำไปใช้ให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีระบบการบริหารกระจายยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้ 1.การคำนวณปริมาณการใช้ยาทุก 6 เดือน โดยประเมินจากประวัติข้อมูลการผลิต หนังสือขอรับการสนับสนุนจากสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงการสำรวจ           ความต้องการผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 2.หลังจากสถานพยาบาลได้รับการสนับสนุนยาแล้ว สามารถคำนวณอัตราการใช้ยา     ต่อเดือน ถ้าหากอัตราการใช้ยาน้อยกว่าแผนที่วางไว้ สามารถแจ้งคืนส่วนกลาง ภายหลังจากการบริหารจัดการยาในพื้นที่แล้ว                   โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะนำยามารักษาผู่ป่วยในโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีปริมาณผู้ป่วยจำนวนมาก เพื่อใช้ตามเงื่อนไขข้างต้น ในส่วนของการสั่งจ่ายยาที่มีกัญชาปรุงผสม ทั้งนี้จะอยู่ในการควบคุม     ของแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยประยุกต์ และ แพทย์แผนไทย อย่างเป็นระบบ 
           นอกจากนี้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย ส่วนนึงได้รับการบรรจุเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ทำให้เกิดความมั่นใจได้ในความปลอดภัย สามารถสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยได้ ที่ผ่านมา ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายทางการแพทย์มีการศึกษาวิจัยอย่างมีมาตรฐานทางการแพทย์ ยกตัวอย่าง เช่น การศึกษา Thai cannabis practice patterns and quality of life study (Thai Cannabis PQ): A preliminary analysis (APHA's 2020 VIRTUAL Annual Meeting and Expo) รวมถึงการศึกษาในพื้นที่ที่มีการปลูกกัญชา และ ใช้กัญชารักษาทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น ประสิทธิผลของน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา             ต่อคุณภาพการนอนหลับและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยนอก ณ คลินิกหางกระรอก โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, ประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี, ทัศนคติต่อการรักษาด้วยน้ำมันกัญชาของผู้ป่วยมะเร็ง ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
             นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้ายว่า กรมให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นอันดับแรก จึงเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของยาทุกชนิด จึงขับเคลื่อนยาแผนไทยเพื่อเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น อีกด้วย 
.........................................................  12 เมษายน 2566 ........................................................
    



   


View 469    12/04/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ