กระทรวงสาธารณสุข เผยงานวิจัย 20 เมนูชูสุขภาพจากพรมมิ สมุนไพรบำรุงสมอง ของคณะวิทยาศาสตร์ มรภ.วไลยอลงกรณ์ พบให้พลังงาน ไขมัน และโซเดียมต่ำ ผู้สูงอายุชื่นชอบทั้งสี รสชาติ กลิ่น ลักษณะอาหาร แนะใช้เป็นแนวทางในการจัดอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

          นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากร ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในสังคมผู้สูงอายุ คือ ภาวะสมองเสื่อม (dementia) ผู้ป่วยจะมีความเสื่อมถอยในด้านความจำ สมาธิ มีอาการหลงลืม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ มีข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรพรมมิว่า ในตำราอายุเวทของอินเดียใช้เป็นสมุนไพรเพิ่มความจำ บำรุงสมอง และมีรายงานการวิจัยในเด็กวัยเรียนที่ได้รับยาน้ำเชื่อมพรมมิ พบว่ามีการเรียนรู้ ความจำ ความเข้าใจที่ดีขึ้น ส่วนในผู้ใหญ่ที่มีภาวะวิตกกังวล พบว่าความกังวลลดลง มีสมาธิดีขึ้น ดังนั้นจึงมีผู้คิดค้นและวิจัยการนำสมุนไพรพรมมิมาประกอบในเมนูอาหารบำรุงสุขภาพผู้สูงอายุ

          โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ได้ทำการวิจัยพัฒนาตำรับอาหารเพื่อสุขภาพจากสมุนไพรพรมมิสำหรับผู้สูงอายุ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสาธารณสุข โดยปรับปรุงสูตรอาหาร ให้เป็นเมนูเพื่อสุขภาพ 3 ประเภท ประกอบด้วย ต้ม/แกง, ผัด/ทอด และตุ๋น/นึ่ง/ลวก รวม 20 รายการ ได้แก่ ต้มเลือดหมู, ต้มข่าไก่, ต้มยําปลากะพงน้ำใส, ข้าวต้มหมูสับ, แกงป่า, แกงจืด, แกงจืดมะระยัดไส้, แกงส้ม, แกงเห็ด, แกงเลียง, ข้าวผัด, อกไก่ผัดขิง, คะน้าผัดน้ำมันหอย, ปลากะพงผัดขึ้นฉ่าย, ผัดบวบ, ผัดผักรวม, ทอดมัน, ผัดดอกกุยช่าย, ไข่ตุ๋นกุ้งสับ และไก่อบวุ้นเส้น โดยเติมผักพรมมิสดลงไปเมนูละ 150 กรัม

          จากการศึกษาในอาสาสมัครผู้สูงอายุชายและหญิง อายุ 60-80 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีปัญหาการขบเคี้ยว ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 30 คน พบว่า ทุกเมนูมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ในเกณฑ์เมนูชูสุขภาพ ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย คือ มีค่าพลังงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 600 กิโลแคลอรี, ไขมันน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 กรัม, โซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 600 มิลลิกรัม โดยอาสาสมัครมีความชอบต่อเมนูอาหารจากพรมมิ ในด้านสีมากที่สุด ตามด้วยลักษณะ รสชาติ และกลิ่น ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มพรมมิลงไปในเมนูอาหารประเภทต้ม/แกง และผัด/ทอด ทำให้สีและลักษณะที่ปรากฏดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างดี

 ************************************************* 13 เมษายน 2566



   
   


View 605    13/04/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ