ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 14 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผย “สงกรานต์” มีกิจกรรมรวมตัวจำนวนมาก เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ “โควิด” ตามคาดการณ์ ย้ำสังเกตอาการตนเอง 7 วัน วาง 3 มาตรการป้องกันแพร่ระบาด ทุกคนเข้ารับวัคซีน สวมหน้ากากในที่สาธารณะ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ กำชับหน่วยงานเตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ เตียงรองรับ ตรวจเชื้อและสายพันธุ์ผู้เสียชีวิตทุกราย รวมถึงสอบสวนโรครวมกรณีอาการรุนแรงและเสียชีวิต แจงสายพันธุ์ XBB 1.16 พบเพิ่มขึ้นทั่วโลก อาจเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป ยังไม่พบข้อมูลมีความรุนแรงหรือหลบวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ
วันนี้ (17 เมษายน 2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้กลับมามีกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก เช่น การสังสรรค์ในครอบครัว รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีการจัดในหลายพื้นที่ หลังงดเว้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 มาหลายปี ซึ่งระหว่างทำกิจกรรมมีการใกล้ชิดและไม่ได้สวมหน้ากาก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ได้ ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ โดยสถานการณ์สัปดาห์ล่าสุด วันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ข้อแนะนำประชาชนหลังเทศกาลสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้วางแนวทางป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับประชาชน 3 มาตรการ คือ 1.ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เริ่มเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี สามารถรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ซึ่งยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รับวัคซีนแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งวัคซีนและ LAAB ให้สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไว้ฉีดประชาชนอย่างเพียงพอ
2.สวมหน้ากากในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรมหรือไปสถานที่ที่มีกลุ่ม 607 จำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย และ 3.ให้ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่ม 608 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีสมาชิกครอบครัว เพื่อน/เพื่อนนักเรียน/เพื่อนร่วมงานที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกในช่วง 1-2 สัปดาห์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค
ส่วนมาตรการสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คือ 1.เร่งสื่อสารประชาชน และเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี พร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 2.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ และเตียง รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการป่วยรุนแรงให้เพียงพอ 3.ทุกจังหวัดเร่งรัดติดตามเฝ้าระวังและรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ทุกราย ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่งตรวจ RT-PCR และตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวข้อง และรายงานข้อมูลภายใน 24 ชั่วโมง และ 4.ทุกจังหวัดให้เตรียมทีมออกสอบสวนโรค กรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตทุกราย เพื่อหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค รวมทั้งการระบาดของโรคที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในโรงพยาบาล โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการและด้อยโอกาส ค่ายทหาร เรือนจำ กลุ่มนักท่องเที่ยว ตามเกณฑ์ที่กำหนด
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และพบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันทั่วโลก โดยพบว่าในประเทศอินเดีย มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเชื่อว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ทั้งหมดในที่สุด หรือกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดในช่วงต่อไป แต่ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ และยังไม่พบว่ามีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในช่วงเวลานี้เช่นกัน
************************************************ 17 เมษายน 2566